xs
xsm
sm
md
lg

“ชาวคำเหมือดแก้ว” จัดงานบุญบั้งไฟปกป้องพื้นที่พ้นภัยธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านคำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟหรือบุญเดือน 6 ตามฮีต 12 คอง 14
กาฬสินธุ์ - ชาวคำเหมือดแก้ว อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ หวั่นอาเพศเดือน 8 สองหน จัดงานบุญบั้งไฟบูชาพญาแถน นำขบวนนางรำ 3,000 คนรำบวงสรวงตามฮีต 12 คอง 14 คนอีสาน หวังช่วยปกป้องพื้นที่เกษตรพ้นภัยธรรมชาติ

วันนี้ (28 พ.ค.) ที่สนามโรงเรียนคำเหมือดแก้วบำเพ็ญวิทยา ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ นายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.เขต 3 พรรคเพื่อไทย เป็นประธานจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟประจำปี 2555 โดยมีนายพิบูรณ์ คำแหงพล นายกเทศมนตรีคำเหมือดแก้ว นำประชาชน เยาวชน ประดับประดาบั้งไฟและจัดริ้วขวนแห่ พร้อมขบวนนางรำกว่า 3,000 คน ร่วมรำบวงสรวงพญาแถน เพื่อสืบสานงานประเพณีบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือน 6 ตามฮีต 12 คอง 14 ซึ่งเป็นความเชื่อของคนอีสาน ก่อนที่จะถึงฤดูกาลทำนา เพื่อไม่เกิดภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วม และพายุฝนฟ้าคะนองที่อาจจะทำให้พื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนเสียหาย เนื่องจากปีนี้มีเดือน 8 สองหน

นายพิบูรณ์ คำแหงพล นายกเทศมนตรีตำบลคำเหมือดแก้ว กล่าวว่า ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นหนึ่งในฮีต 12 คอง 14 ซึ่งชาวอีสานที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมต้องพึ่งพาฝนฟ้าเป็นหลัก มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เกี่ยวกับการบวงสรวงบูชาพญาแถนที่เป็นเทวดาแห่งฝนตามคติความเชื่อของคนอีสาน การจัดงานประเพณีขึ้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล

เนื่องจากในปีนี้มีเดือน 8 สองหน ซึ่งเชื่อกันว่าในปีใดที่มีเดือน 8 สองหนจะเกิดภาวะฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะปีที่ผ่านมามีอาเพศเกิดขึ้นในพื้นที่ตลอด ทั้งฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ขณะที่ฝนตกกลับเกิดอุทกภัย ทำให้บ้านเรือนและนาข้าวได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรวงสรวงพญาแถน และแก้เคล็ดฝนแล้ง เทศบาลตำบลคำเหมือดแก้วจึงจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟประจำปี 2555 อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมจัดขบวนนางรำกว่า 3,000 คน ร่ายรำไปตามถนนรอบๆ หมู่บ้าน ทั้งยังจัดแสดงความสามารถของเยาวชนที่แต่งกายเป็นท้าวผาแดง-นางไอ่ เพื่อขอขมาพญาแถน ไม่ให้เกิดเภทภัยในฤดูฝนทั้งพายุฟ้าคะนอง เหตุแผ่นดินไหวหรือดินถล่ม เหมือนเรื่องราวโศกนาฏกรรมในตำนานท้าวผาแดง-นางไอ่ในอดีต



กำลังโหลดความคิดเห็น