xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นปรับ 10 เสื้อแดง 4 หมื่นจำคุก 2 ปีบุกบ้านอดีต รมช.คมนาคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนึ่งในพฤติกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงขอนแก่น ชุมนุมปิดศาลากลางเมื่อราวกลางเดือนพฤษภาคม 53
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งปรับ 10 เสื้อแดงขอนแก่นบุกรุกทำลายทรัพย์บ้านพักนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ อดีต รมช.คมนาคม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 53 คนละ 2 ปี ปรับ 4 หมื่น/คน ลดโทษกึ่งหนึ่ง และรอลงอาญา 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.15 น. วันนี้ (23 พ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น โจทก์ฟ้องจำเลยคดีเสื้อแดงจังหวัดขอนแก่นจำนวน 10 คนในข้อกล่าวหาก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกบ้านพัก นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ความผิดต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีจำเลยที่ 1, 2, 3 และจำเลยที่ 7 ,8, 9 และ 10 ขออุทธรณ์คำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น ลงวันที่ 19 เมษายน 2554

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับอุทธรณ์วันที่ 3 ตุลาคม 2554 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 10 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ฯลฯ ลงวันที่ 7 เมษายน 2553 และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

จำเลยทั้งสิบให้การปฏิเสธ ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสิบแก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพในข้อหาร่วมกันมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ปฏิเสธในข้อหาอื่น

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 10 มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ม.5, 9 (2), 11, 18 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำเลยทั้ง 10 ให้จำคุกคนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3, 4, 5, 7, 8, 9, 10 คนละ 40,000 บาท จำเลยทั้ง 10 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนล่ะกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงโทษจำเลยทั้งสิบให้จำคุกคนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 1, 3, 4, 5, 7, 8, 9, 10 คนละ 20,000 บาท

ทั้งนี้ โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ 3, 4, 5, 7, 8, 9, 10 ให้รอลงการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี และให้ละเว้นความประพฤติใดๆ อันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันนี้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ริบของกลาง นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และที่ 6 โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 598/2554 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นให้ยก

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว พิจารณาพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 7 ถึงที่ 10 มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 5, 9 (2), 11, 18 จึงชอบแล้ว

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 7 ถึงที่ 10 อุทธรณ์ว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สิ้นสภาพการใช้บังคับไปแล้วโดยปริยายนั้น เห็นว่าไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สิ้นสภาพบังคับใช้ การสิ้นสุดลงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ไม่มีผลทำให้พระราชกำหนดดังกล่าวสิ้นผลไปด้วยแต่อย่างใด

และที่อ้างว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 รวม 4 ฉบับ ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี การตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งคำสั่งของศูนย์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี และพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี ล้วนเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ที่ขัดต่อคำรับสารภาพ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น

กรณีนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัย และการที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดวางโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ถึงที่ 10 ให้จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท

โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ก็เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4

สำหรับผู้ต้องหาเสื้อแดงทั้ง 10 คน ประกอบด้วย 1. นายวิวัฒน์ สามหมาดไทย 2. นายวีระพันธ์ ไชยจันดา 3. นายชัยจักร พลศักดิ์ 4. นายสุพรรณ ทาปลัด 5. นายพนมรุ่ง ศรศิริ 6. นายสุทัศน์ สิงห์บัวขาว 7. นายทนงศักดิ์ กงผัน 8. นายธงชัย จาริชานนท์ 9. นายวรวิทย์ จำนงค์นอก และ 10. นายไพรวัลย์ แสนสะท้าน

กำลังโหลดความคิดเห็น