สุรินทร์ - เมืองช้างประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว 5 อำเภอ 42 ตำบล 551 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนกว่า 3 แสนคน ขณะ จทบ.สุรินทร์นำน้ำอุปโภคบริโภคสะอาดแจกจ่ายประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เผยปริมาณน้ำในอ่างฯ ทั้ง 18 แห่งของสุรินทร์ลดฮวบต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือแค่ 49.36%
วันนี้ (18 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดสุรินทร์ได้ออกประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง ในเขตจังหวัดสุรินทร์แล้วรวม 5 อำเภอ 42 ตำบล 551 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอโนนนารายณ์ อำเภอสังขะ อำเภอกาบเชิง อำเภอปราสาท และอำเภอบัวเชด
โดยแยกเป็น อ.โนนนารายณ์ประสบภัยพิบัติแล้ง 5 ตำบล 68 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคจำนวน 6,298 ครัวเรือน 35,368 คน
อ.สังขะ เกิดภัยแล้ง 7 ตำบล 108 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 13,648 ครัวเรือน 63,554 คน
อ.กาบเชิง เกิดเหตุภัยแล้ง 6 ตำบล 68 หมู่บ้าน ราษฎรขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค จำนวน 2,500 ครัวเรือน 43,700 คน
อ.ปราสาท เกิดภัยแล้ง 18 ตำบล 239 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค 36,737 ครัวเรือน 145,732 คน
อ.บัวเชด เกิดเหตุภัยแล้ง 6 ตำบล 68 หมู่บ้าน ราษฎรขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ได้รับความเดือดร้อน 9,860 ครัวเรือน 39,255 คน
ทางด้าน พล.ต.นิรุทธ เกตุศิริ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบก (ผบ.จทบ.) สุรินทร์ ได้นำรถบรรทุกน้ำจำนวน 3 คัน นำน้ำอุปโภค บริโภคสะอาดจากการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดสุรินทร์ออกแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด ที่บ้านระกา หมู่ที่ 4 ต.เพี้ยราม อ.เมืองสุรินทร์ จำนวน 15,000 ลิตร
พล.ต.นิรุทธ เกตุศิริ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุรินทร์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับบริษัท ปตท. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค สนับสนุนการดำเนินการนำน้ำสะอาดแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาด ซึ่งจังหวัดทหารบกสุรินทร์จะได้ทยอยออกแจกจ่ายน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดให้ครบทั้ง 5 อำเภอ 551 หมู่บ้านของ จ.สุรินทร์ที่ประสบภัยแล้ง โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป
นอกจากนั้น ยังพบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ของจังหวัดสุรินทร์ระดับลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและฝายชลประทานขนาดกลางในเขต จ.สุรินทร์ทั้ง 18 แห่ง ปริมาณน้ำวัดได้ 71 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นประมาณร้อยละ 49.36 ของขนาดความจุทั้งหมด 145 ล้าน ลบ.ม.
แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำดังกล่าวในเบื้องต้นยังเพียงพอต่อการรองรับปัญหาภัยแล้งได้ โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรัง 11,212 ไร่ ในพื้นที่เขตบริการชลประทาน ยังสามารถดูแลได้ แต่พื้นที่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรที่สูบน้ำจากบ่อน้ำตามทุ่งนาจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากน้ำเริ่มแห้งขอด ต้นข้าวได้รับความเสียหายบางส่วนแล้วในขณะนี้