สุรินทร์ - หลายพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในหน้าแล้งนี้ ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงจนแห้งขอด และอ่างเก็บน้ำสำคัญๆ ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ปริมาณน้ำเหลือไม่ถึงครึ่งความจุของอ่าง ในขณะที่จังหวัดยังคงไม่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย
สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดสุรินทร์ขยายวงกว้าง หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ พบว่ามี 2 อำเภอ จาก 17 อำเภอที่ขออนุมัติทางจังหวัดเพื่อประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้ง คือ อำเภอปราสาท และอำเภอบัวเชด ส่วนจังหวัดแม้จะยังไม่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้ง แต่ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลแต่ละพื้นที่ได้เร่งนำน้ำออกแจกจ่ายช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยแล้วกว่า 1 ล้านลิตร
ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติหลายพื้นที่แห้งขอด ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 18 แห่งของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีความจุ 145 ล้านลูกบาศก์เมตร ในภาพรวมเหลือเพียง 70 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุ ซึ่งลดลงมากกว่าครึ่ง
โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำอำปึล ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำความจุถึง 27 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำลดลงเหลือ 7 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และเป็นอ่างเก็บน้ำที่สำรองให้อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนเมืองสุรินทร์ ขณะนี้เห็นเนินดินกลางน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำเกาะแก้ว อ.สำโรงทาบ น้ำแห้งขอดกลายเป็นอ่างดินไม่มีน้ำ สาเหตุมาจากการทำนาปรังเพิ่มขึ้นจำนวนมากในปีนี้ โดยมีการสูบน้ำเข้านาปรังจนน้ำแห้งขอด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชลประทานสุรินทร์จะยืนยันปริมาณน้ำในอ่างเก็บห้วยเสนง (สะ-เหนง) เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา แต่ชาวบ้านก็ยังคงหวั่นวิตกว่าอาจขาดแคลนน้ำ หากไม่มีฝนตกลงมาในช่วงนี้จะเกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน