xs
xsm
sm
md
lg

สกลฯแล้งหนักข้าวนาปรังขาดน้ำเริ่มแห้งตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สกลนคร -ชาวนาหลายพื้นที่ในสกลนคร กำลังเดือดร้อนหนักจากปัญหาภัยแล้ง แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดและฝนไม่ตก ข้าวนาปรังที่หว่านส่อเค้าเสียหาย ขณะเดียวกัน มีชาวนาอีกไม่น้อยยอมเสี่ยงหว่านข้าวรอฝน เพื่อเลี่ยงปัญหาค่าจ้างแรงงานรายวัน ที่พุ่งสูงถึง 300 บาทต่อวัน เมื่อปีที่ผ่านมา

นายไมตรี นามตาแสง ชาวบ้านหนองผือ ต.โพนนาแก้ว อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร กล่าวว่า ตนและเพื่อนบ้านได้เลือกทำนาหว่านมานานกว่า 10 ปี เพื่อลดปัญหาค่าจ้างแรงงานในการตกกล้า และปักดำที่นับวันยิ่งสูงขึ้นทุกวัน โดยจะเลือกหว่านข้าวรอฝน แต่ปีนี้ก่อนที่จะหว่านข้านได้มีพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก และหลังหว่านข้าวไปแล้วยังไม่มีฝนตก อีกทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด ต้นข้าวที่เริ่มงอกได้เกือบ 1 คืบ เริ่มขาดแคลนน้ำต้นเริ่มเหี่ยว อีกทั้งแหล่งน้ำก็เริ่มแห้งขอด หากยังไม่มีฝนตกต้นข้าวก็จะได้รับความเสียหายทั้งหมด

เฉพาะตนเองทำนา 22 ไร่ รวมกับเพื่อนบ้านอีก หลายร้อยไร่ก็ต้องเดือดร้อนไม่มีพันธุ์ข้าวที่จะปลูกใหม่ รวมทั้งต้องเพิ่มต้นทุนการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า แม้ชาวนาหลายรายจะหวั่นวิตกกับภัยแล้ง แต่ก็ยังเร่งเตรียมดินหว่านข้าวรอฝน ในอีกหลายพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่า หากเลือกทำนาดำอาจจะประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานรายวันที่พุ่งสูงกว่า 300 บาท เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งข้าวนาดำ 1 ไร่ รวมค่าไถเตรียมดิน ตกกล้า และปักดำข้าวแล้วสูงถึงไร่ละ 1,500 บาท ขณะที่นาหว่านต้นทุนจะถูกลงกว่าครึ่ง จึงต้องยอมเสี่ยงทำนาหว่านและที่ผ่านมาผลผลิตข้าวนาดำและนาหว่านไม่แตกต่างกันมากนัก

อย่างไรก็ตาม เป็นเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรในภาคอีสานปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว จากการทำนาดำ เป็นนาหว่านแห้งกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีการปลูกข้าวที่ประหยัดแรงงาน เวลา และค่าใช้จ่าย เพราะการปลูกข้าวแบบนาหว่านข้าวแห้ง เป็นการปลูกข้าวแบบหว่านเมล็ดโดยตรง เมล็ดข้าวจะงอกพร้อมกัน เมื่อได้รับน้ำฝนหรือมีความชื้นสภาพแวดล้อมเหมาะสม

ปัญหาสำคัญที่ตามมา คือ ปัญหาจากวัชพืชในนาข้าว หากไม่มีการควบคุมและกำจัดวัชพืชแล้ว จะเกิดการสูญเสีย และมีผลทำให้ผลผลิตของข้าวในการทำนาหว่านข้าวแห้งลดลง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

กำลังโหลดความคิดเห็น