เชียงราย - มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จับมือ 7 รพ.ชุมชนเชียงรายเปิดห้องสินแพทย์แนวใหม่ ป้อนบุคลากรทางการแพทย์กลับชุมชนแก้ปัญหาขาดแคลนหมอ ปีแรก (ปีการศึกษา 2556) รับ 32 คน คาดอีก 10 ปีผลิตแพทย์ส่งเข้าชุมชนได้ 240 คน
วันนี้ (10 เม.ย.) ที่ห้องเชียงแสน อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย นายสัตวแพทย์ ดร.เทอด เทศประทีป ที่ปรึกษาอธิการบดี ในฐานะตัวแทน รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล.ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือในการผลิตแพทย์ระหว่างสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล.กับโรงพยาบาลชุมชนของ จ.เชียงราย
โดยมีนายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล, นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย และผู้อำนวยการโรงพยาบาล 7 แห่ง คือ โรงพยาบาลแม่สาย, โรงพยาบาลแม่จัน, โรงพยาบาลแม่สรวย,
โรงพยาบาลเชียงแสน, โรงพยาบาลพาน, โรงพยาบาลพญาเม็งราย, โรงพยาบาลเวียงเชียงรุ้ง และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด และสื่อมวลชนเข้าร่วม
นายสัตวแพทย์ ดร.เทอดกล่าวว่า มฟล.ได้ผลักดันให้มีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
มฟล.มีความพร้อมและศักยภาพในการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว มีสำนักวิชาที่จัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีอยู่เดิม คือ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มีอาคารและครุภัณฑ์ประกอบอาคารปรีคลินิก ที่สามารถใช้ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเตรียมแพทย์และชั้นปรีคลินิกได้ โดยมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่เน้นการแพทย์ทางเลือก และโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์รองรับอยู่แล้ว ดังนั้น จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงกับโรงพยาบาลต่างๆ ในครั้งนี้
นายสัตวแพทย์ ดร.เทอดกล่าวอีกว่า การจัดตั้งสำนักแพทยศาสตร์เพื่อผลิตแพทย์และมุ่งเน้นผลการรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยอาศัยชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ ฯลฯ ควบรวมการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัย ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนทั้งชาวเชียงรายและภาคเหนือ เพื่อให้ได้แพทย์แนวคิดใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนที่มีจิตใจรักชุมชน สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดของตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป
นายแพทย์ชำนาญกล่าวเสริมว่า ไทยมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบทมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายแพทย์สู่ชนบทยังเป็นปัญหาสำคัญมาโดยตลอด แม้จะมีความพยายามแก้ไขด้วยมาตรการต่างๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แพทย์ที่จบใหม่ยังคงต้องการมาศึกษาต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลแพทย์ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ และไม่ต้องการกลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบทอยู่ดี
ดังนั้น การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แนวใหม่ที่มุ่งผลิตแพทย์ที่มีแนวคิดใหม่ตรงความต้องการของชุมชน มีจิตใจรักผูกพัน และต้องการปฏิบัติงานอยู่ในชุมชน จึงเป็นทางออกสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้
ด้าน พล.ท.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นพดล วรอุไร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล.กล่าวว่า การดำเนินงานของสำนักฯ มุ่งจัดการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นสำคัญ เน้นการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวแบบองค์รวม ผสมผสานเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ากับพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์ ควบรวมกับการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัย โดยอาศัยชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ผ่านการสร้างเครือข่ายกับโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ
มฟล.จะรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2556 จำนวน 32 คน จากนั้นคาดว่าในอีก 10 ปีจะมีบัณฑิตแพทย์ตามโครงการดังกล่าวสำเร็จการศึกษาจำนวน 240 คน
ทั้งนี้ มฟล.มีการจัดทำโครงการผลิตแพทย์และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี 2556-2560 ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ กระนั้น ทาง มฟล.ก็ได้มีการจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแล้ว โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา มฟล. สกอ.และแพทยสภาแล้ว รวมทั้งยังได้มีโรงพยาบาลสุโขทัย และโรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย จ.สุโขทัย เป็นโรงพยาบาลสมทบอีกด้วย