พิษณุโลก - รองอธิบดีกรมชลประทานบินด่วนดูประตูน้ำเขื่อนนเรศวร ล่าสุดยังหาบานประตูที่จมน้ำไปไม่เจอต้องใช้บานสำรองไปก่อน ระบุใช้เวลาซ่อม 2 เดือน ยอมรับแจ้งเตือนคนหัว-ท้ายเขื่อน “ทำตามอัตภาพ” แต่ยืนยันคุมปริมาณน้ำกลับสู่สภาพเดิม จาก 4 บานประตูที่เหลือได้
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (10 เม.ย.) นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ ได้บินด่วนเข้าตรวจสอบสภาพเขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก หลังจากบานประตูระบายน้ำเขื่อนบานที่ 5 ที่มีน้ำหนัก 28 ตัน หลุดจมใต้แม่น้ำน่าน ส่งผลให้น้ำเหนือเขื่อนได้ไหลออกอย่างรวดเร็ว และระดับน้ำใต้เขื่อนสูงขึ้นกว่า 2 เมตร จนทำให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ใต้เขื่อนต่างหวาดผวาเกรงน้ำท่วมกันถ้วนหน้า
หลังตรวจสภาพประตูระบายน้ำดังกล่าวแล้ว นายสุเทพเปิดเผยว่า สาเหตุของบานประตูระบายน้ำพังและหลุดไปกับกระแสน้ำนั้น เนื่องจากสลิงและอุปกรณ์บางตัวหมดอายุการใช้งาน ปกติจะมีการซ่อมแซมบำรุงรักษา 2 ปีต่อ 1 ครั้ง แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ทางเขื่อนนเรศวรได้เร่งทำการซ่อมแซมประตูระบายน้ำที่ชำรุด โดยนำเอาบานสำรองมาติดตั้งไว้ก่อนจนสามารถควบคุมระดับน้ำไว้ได้เป็นปกติแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (10 เม.ย.) พร้อมกับใช้บานประตูระบายน้ำ 1-4 เป็นตัวควบคุมระบายน้ำไปก่อน และบ่ายวันเดียวกันนี้ช่างเทคนิคจากกรมชลประทานจะเดินทางมาตรวจสอบมาตรฐานและการแก้ไขประตูระบายน้ำของเขื่อนนเรศวรอีกครั้ง
ส่วนบานประตูที่ชำรุดและหลุดหายไปกับกระแสน้ำนั้น ขณะนี้ยังไม่พบ โดยทางกรมชลประทานจะเร่งหาบานประตูดังกล่าวเพื่อติดตั้งใหม่ คาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูน้ำหลากอย่างแน่นอน
รองอธิบดีกรมชลประทานเผยอีกว่า ขณะนี้ขอให้ทางสำนักงานชลประทานที่ 3 ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีความมั่นใจเกี่ยวกับการระบายน้ำของเขื่อนนเรศวรที่กลับมาสู่สภาพปกติแล้ว ไม่ต้องตื่นตระหนกว่าจะมีน้ำท่วมแต่อย่างใด พร้อมทั้งให้สำรวจบานประตูน้ำไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ คู คลอง ว่ามีความเสียหายอะไรหรือไม่ เพื่อรองรับน้ำที่จะมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หากชำรุดก็ให้เร่งซ่อมแซม โดยใช้งบประมาณสำรองของกรมชลประทาน
ด้านนายสมชาย วงศ์ศิริ ผู้อำนวยการส่วนสำนักชลประทานที่ 3 เปิดเผยว่า ตอนนี้ต้องใช้บานประตูน้ำสำรองไปก่อนเพื่อแก้ขัด และใช้ประตูน้ำควบคุมที่เหลือทั้ง 4 บานเพื่อควบคุมน้ำไปก่อน และจะต้องหาบานประตูเก่าที่หลุดหายไปให้ก่อนเพื่อประเมินความเสียหาย ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะใช้บานเก่าหรือต้องซื้อใหม่ ดังนั้นจึงไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ โดยกรมชลประทานจะใช้งบฉุกเฉินที่ตั้งไว้ เบื้องต้นก็คงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่ที่แน่ๆ จะต้องใช้เวลาซ่อมแซมถึง 2 เดือน
ส่วนการแจ้งเตือนภัยนั้น นายสมชายบอกว่า เหตุการณ์ช่วงนี้เกิดขึ้นเร็วมาก กรณีแพท้ายเขื่อนหรือกระชังปลาก็ยอมรับว่าประกาศแจ้งได้ตามอัตภาพ เพราะเป็นเหตุฉุกเฉินไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ประตูเก่าหมดสภาพ
นายกรรณชิง ขาวสอาด รักษาการ ผู้อำนวยการโครงการบริหารจัดการเขื่อนนเรศวร กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการทำงานของเขื่อนนเรศวรนั้นมี 2 ประการที่ขอให้ทางกรมชลประทานได้เร่งแก้ไข คือ ปัญหาบุคลากรที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลเขื่อนและตรวจสอบควบคุมน้ำตลอดเวลา อีกปัญหาหนึ่งคือ ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษายังไม่เพียงพอ ส่งผลให้งานต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า
ผู้สื่อข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า หลังจากรองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ ตรวจสภาพประตูระบายน้ำของเขื่อนนเรศวรแล้ว ก็ได้เดินทางไปตรวจสอบเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ก่อนกลับกรุงเทพฯ เย็นวันเดียวกันนี้