เลย - โรงพยาบาลเลยผนึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดซ้อมแผนรับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน สายเลย-นาด้วง หวังลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ปีนี้ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน
วันนี้ (28 มี.ค.55) ที่บริเวณถนนสายเลย-นาด้วง โรงพยาบาลเลย ร่วมกับหน่วยกู้ภัยจังหวัดเลยซ้อมแผนรับสถานการณ์อุบัติเหตุบนถนนสายเลย-นาด้วง โดยมีรถโดยสารชนกับรถกระบะ และรถบรรทุกทหาร มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ จำนวนมาก มีการระดมหน่วยกู้ชีพและหน่วย EMS ในจังหวัดเลยไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บบริเวณดังกล่าวด้วยความพร้อมเพียง
การซ้อมแผนดังกล่าว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับบุคลากร เวชภัณฑ์ และระบบสนับสนุนต่างๆรองรับสถานการณ์สาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เตรียมความพร้อมบุคลากรในโรงพยาบาลให้มีความเข้าใจ สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากสาธารณภัยอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และปลอดภัย
ทั้งเตรียมความพร้อมบุคลากรนอกโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัย เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาสาสมัครกู้ภัย ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ตลอดจนเครือข่ายสาธารณสุขต่างๆ เข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และสามารถปฏิบัติงานช่วยผู้บาดเจ็บจากสาธารณภัยได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ปัจจุบันอุบัติเหตุมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 ของประเทศโดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจร จากสถิติอุบัติเหตุจราจรของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพบว่า ปี 2552 มีอุบัติเหตุจราจรทางบกจำนวน 84,806 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บจำนวน 61,996 คน และผู้เสียชีวิต 10,796 คน รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจรวม 3,815.52 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตรา ขับรถโดยประมาท เมาแล้วขับ แซงรถผิดกฎหมาย และหลับในกลุ่มอายุที่มีอัตราตายสูงคือ กลุ่มอายุระหว่าง 15-34 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศมากที่สุด
จากข้อมูลของโรงพยาบาลเลย มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในปี 2552 2553 และ 2554 จำนวน 3,688 ราย 4,593 ราย และ 4,317 ราย ตามลำดับ และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 58 ศพ , 54 ศพ , และ 67 ศพ ตามลำดับ ถึงแม้ว่าแนวโน้มมีจำนวนลดลงแต่ยังคงมีความรุนแรงสูง และเกิดสถานการณ์อุบัติเหตุกลุ่มชนรุนแรงและ มีจำนวนสูงขึ้น
อุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มักเกิดมากในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เนื่องจากมีการใช้รถใช้ถนนมากขึ้นกว่าปกติ เพราะประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา และบางส่วนไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลดังกล่าวประชาชนส่วนใหญ่นิยมจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ดื่มสุรา เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย