xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงนายก อบจ.กาญจน์ "รังสรรค์-พลโทมะ" ทุ่มเต็มหน้าตัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ผู้สมัครนายก อบจ.กาญจนบุรี
กาญจนบุรี - โค้งสุดท้ายศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.และสมาชิก อบจ.กาญจนบุรี "รังสรรค์- พลโทมะ" ทุ่มเต็มหน้าตัก สรุปใครพวกมากจะคว้าเก้าอี้ตำแหน่งนายก อบจ.กาญจนบุรี

บรรยากาศการหาเสียงโค้งสุดท้ายเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) กาญจนบุรี และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) กาญจนบุรี ที่จะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 18 มี.ค.55 นี้ โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี 2 ราย คือ นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ อดีตนายก อบจ.กาญจนบุรี เบอร์ 1 และพลโทมะ โพธิ์งาม ผู้อดีต ส.ส.กาญจนบุรี และอดีต ผช.รมว.คมนาคม เบอร์ 2

โดยนายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ เบอร์ 1 ใช้การหาเสียงโดยใช้รถแห่โชว์ตัว เน้นเดินหาเสียงในเขตพื้นที่ชุมชน เช่น อ.ท่าม่วง ท่ามะกา และ อ.เมือง ที่ถือว่ามีคะแนนมาก โดยนายรังสรรค์ ได้เปรียบในส่วนของผู้สมัคร ส.อบจ.เป็นคนเก่าจำนวนมากกว่าและมีฐานเสียงที่รวมระหว่างประชาธิปัตย์กับการเมืองท้องถิ่นที่มีการสนับสนุนในขณะดำรงตำแหน่งนายก อบจ.กาญจนบุรีสมัยที่แล้ว โดยเน้นขายนโยบายสานงานต่อเพื่อพัฒนากาญจนบุรีสู่เวทีโลก

โดยนโยบาย 9 แนวทาง พัฒนาจังหวัดกาญจนบุรีเป็นศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยวเศรษฐกิจ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในอีก 5 ปีข้างหน้า ยึดหลัก 4 ประการ คือ 1.หลักธรรมมาภิบาล หลักนิติธรรม 2.หลักการจัดการความรู้ 3.หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน 4.หลักความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

และเสนอ 5 แนวทางในการปฏิบัติ คือ 1.แนวแนวยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชน 2.แนวทางผสมผสานการจัดการนวัตกรรม 3.แนวทางบูรณาการกับทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ 4 .แนวทางการสร้างคุณค่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 5.แนวทางการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ

ภายใต้ 9 ยุทธศาสตร์ที่ได้จัดวางเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคือ 1.พัฒนาและยกระดับการศึกษาให้เป็นมาตรฐานสากล 2.ส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ 3.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ การค้าชายแดนทวายโปรเจ็คต์ เวสเทริ์นซีบอร์ดเป็นศูนย์การค้าภาคตะวันตก 4.พัฒนาสาธารณูปโภค คมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน 5.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6.ส่งเสริมกีฬา และนันทนาการ 7.ส่งเสริมคุณค่าทางสังคมศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น 8.การสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งศูนย์การเตือนภัยพิบัติ และ 9.กระบวนการมีส่วนร่วม เปิดเวทีสัญจรเยี่ยมท้องถิ่น เปิดรับข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน และทุกภาคส่วน
พลโทมะ โพธิ์งาม ผู้สมัครนายก อบจ.กาญจนบุรี หมายเลข 2
ส่วนทางด้าน พลโทมะ โพธิ์งาม ผู้สมัคร เบอร์ 2 ได้เดินลงพื้นที่หาเสียงแบบเคาะบ้านเช่นกัน ใช้บุคลิกส่วนตัวที่ติดดินเข้าคนง่ายเดินเจาะฐานชุมชนต่างๆ ด้วยตัวเองเช่นกัน ส่วนทีมงานใช้ตัวแทนลงพื้นที่แบบดาวกระจายในทุกอำเภอ ฐานเสียงเป็นฐานของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดงกาญจนบุรี ออกมาช่วยอย่างชัดเจน เป็นทหารเก่าและอยู่ในส่วนของฝ่ายบริหาร จึงเป็นจุดที่ทำให้ชื่อของพลโทมะ ติดปากชาวบ้านได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการหาเสียงโดยเน้นจุดขายนโยบายเป็นผู้ประสานงานกับรัฐบาลเพื่อผลักดันโครงการของรัฐบาลให้เกิดรูปธรรมและนำไปสู่การพัฒนากาญจนบุรี ที่จะต้องเป็นศูนย์กลางทางการค้าในอนาคต โดยเน้นการพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรี โดยวางแผนให้เป็นเมืองแห่งสังคมพัฒนา ทั้งด้านการศึกษา การผลักดันให้เกิดหนึ่งทีมฟุตบอลในฝัน, อุทยานท่องเที่ยวกาญจนบุรี, เปิดประตูการค้าชายแดน (ตลาดโรงเกลือ 2), 50 ล้านเพื่อพี่น้องเกษตรกร, ฟื้นฟูและส่งเสริมสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล เอส เอ็ม แอล สู่ชุมชน และเชื่อมโยงนโยบายรัฐบาล

ด้านเกจิข้างสนามที่เฝ้าติดตามการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ให้ทรรศนะว่า การเลือกตั้งนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองท้องถิ่นกาญจนบุรี เริ่มจากกลุ่มการเมืองท้องถิ่นกับกลุ่มการเมืองระดับชาติเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดการแข่งขันอย่างพลิกโฉม เพราะเดิมเป็นแค่ท้องถิ่นสู้กับท้องถิ่น แต่ตอนนี้ อบจ.กาญจนบุรี กลายเป็นเวทีระดับชาติและจะพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางการค้าระดับประเทศในภูมิภาคนี้ ดังนั้น จึงทำให้สีสันการหาเสียงเข้มข้นมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มความได้เปรียบเสียเปรียบต้องยอมรับว่า สูสีกันมากโดยฝ่ายนายกรังสรรค์ ได้เปรียบฐานคะแนนจาก ส.อบจ.เก่า และท้องถิ่นหลายแห่งให้การสนับสนุน ส่วนทางพลโทมะ ก็เป็นอดีต ส.ส.กาญจนบุรีเขต 1 แบบการเลือกตั้งพวงใหญ่ที่เคยได้คะแนนสูงมาก 80,000 กว่าคะแนน และตอนนี้อยู่ในซีกของรัฐบาล

หากให้มองว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร วันนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ ต้องดูจากหลายตัวแปรที่จะเกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ฐานคะแนนเสียงของชนชั้นกลางในพื้นที่ชุมชนเมืองใหญ่ต่างในพื้นที่ อ.เมือง ท่าม่วง ท่ามะกา ที่ยังไม่ตัดสินใจว่า จะเลือกใครน่าจะเป็นจุดชี้ขาดว่าใครจะเข้าวิน เรียกว่า ใครเดินหาเสียงตรงเป้าก็ได้คะแนนไป แต่ท่ามกลางข่าวลือว่ามีการล่ารายชื่อชาวบ้านในแต่ละพื้นที่เพื่อนำไปทำฝนเทียม หากฝนตกห่าใหญ่ ใครก็ไม่สารถเดาได้ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

เชื่อได้ว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้กลยุทธ์ในการหาเสียงเพื่อได้คะแนนในทุกวิธี ตัวแปรที่สำคัญ คือ คะแนนจัดตั้งที่กำลังช่วงชิงกันอย่างหนัก โดยในส่วนของผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ต่างเสียวไปตามกัน เพราะจะมีพฤติกรรมแบ รักพี่เสียดายน้องไม่ได้ ในที่สุดวันเลือกตั้ง 18 ม.ค.55 จะเป็นวันชี้ขาด เพราะต้องเลือกข้างลงคะแนนว่าจะอยู่ฝ่ายไหนจะช่วยหัวทางนี้หรือถือหางอีกทางก็จะส่งผลเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้เช่นกัน

แต่หากการเลือกตั้งในครั้งนี้ทุกพื้นที่ใช้ระบบขายพ่วงแบบรวบหัวรวบหาง ผลคะแนนออกมาแบบ นายกฯชนะคู่กับ ส.อบจ.เขตก็จะทำให้การเมืองสนาม อบจ.กาญจนบุรี ถือเป็นกรณีศึกษาการเมืองกาญจนบุรีในอนาคตเช่นกัน

การเลือกตั้ง อบจ.กาญจนบุรี ในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของการใช้สิทธิเลือกผู้บริหาร อบจ.กาญจนบุรีถือเป็นการตัดสินใจเลือกผู้นำองค์กรท้องถิ่นที่กุมภาพรวมในการพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรี ที่ผู้บริหาร อบจ.กาญจนบุรี จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและบริหารเงินงบประมาณจากบริหารโครงการเตรียมความพร้อมมรองรับการพัฒนาโครงการทวายโปรเจกต์จำนวนหลายแสนล้านบาทเป็นเดิมพันในศึกครั้งนี้

สรุปทั้ง 2 ฝ่ายเกหมดหน้าตักใช้ทุกวิธีเพื่อสู่การชนะการเลือกตั้งภายใต้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบลูกโช่จาก 1 ต่อเป็น 10 จาก 10 ต่อไปเป็น 100 ใครทำได้ถึงเป้ามีโบนัส โดยเน้นวิธีการเจาะเฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก ใครพวกเยอะชนะได้เป็นนายก อบจ.กาญจนบุรี คนต่อไปแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น