xs
xsm
sm
md
lg

วงเสวนาชี้ดึงภาคประชาชนร่วมแก้หมอกควัน ฝนหลวงยังไม่ท้อเล็งทำฝนเทียมต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - วงเสวนาเชียงใหม่เสนอปรับเปลี่ยนวิธีคิดแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ชี้ต้องดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมเพิ่มศักยภาพ-หนุนงบประมาณ ด้านรัฐต้องบูรณาการแผนงานให้ได้จริง ส่วน ผอ.ฝนหลวงภาคเหนือรับทำฝนเทียมแก้หมอกควันครั้งแรกยังไร้ผล เหตุสภาพอากาศไม่เป็นใจ ยันไม่ท้อเตรียมดูวันต่อวัน หากมีโอกาสส่งเครื่องบินขึ้นทำฝนเทียมทันที

วันนี้ (29 ก.พ.55) ที่ห้องประชุมสัมมนา 1 อาคารเครื่องกล 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม และเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกันจัดงานเสวนา “แนวทางการจัดการไฟป่าลดปัญหาหมอกควัน...ทางออกที่ยังไม่เลือก” ขึ้น โดยมีนักวิชาการและตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ที่ทำการศึกษาหรือเกี่ยวข้องกับปัญหาหมอกควันไฟป่าเข้าร่วม

โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ประกอบด้วย ผศ.ดร.ศุทธินี ดนตรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.วัชรพงษ์ ธัชยพวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายอดุลย์ ใจเป็ง หัวหน้าศูนย์ควบคุมไฟป่าดอยอินทนนท์ นายเดโช ไชยทัพ จากโครงการความร่วมมือจัดการไฟป่าแบบผสมผสานลดปัญหาหมอกควัน นายสุนทร เทียนแก้ว จากเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ และนายนภดล สวัสดิ์ ฝ่ายคุณภาพอากาศและเสียง เทศบาลนครเชียงใหม่

ทั้งนี้ ภายหลังการสัมมนา ผู้ร่วมสัมมนาทั้งหมดได้ร่วมกันแถลงข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่า ใน 7 ประเด็น ได้แก่

1. เสนนอให้ปรับเปลี่ยนหลักคิดและวิธีการบริหารจัดการของรัฐ ไปสู่หลักการจัดการร่วมกับประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรมากขึ้น

2.เลือกใช้ความรู้ในการบริหารจัดการไฟป่าให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขและบริบทของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากมาตรการห้ามเผาเพยงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าได้

3.ต้องทำให้เกิดการบูรณาการแผนที่เป็นจริงทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ เพราะในปัจจุบันแต่ละหน่วยงานยังคงยึดแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าตามแผนงานที่หน่วยงานของตนวางแผนไว้เป็นหลัก แต่ขาดความเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่มีแผนในภาพรวมหรือในระยะยาว

4.ปรับทิศทางในการบริหารจัดการงบประมาณแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไปสู่การบริหารจัดการของชุมชน เพื่อให้ชุมชุนสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องรับภาระมากเกินไป

5.ยกระดับความสามารถขององค์กรชุมชนเครือข่าย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการไฟป่า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6.เขื่อมโยงการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน กับปัญหาคุณภาพชีวิตและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบให้เป็นรูปธรรม ทั้งทางด้านนโยบายและการปฏิบัติจริง และ

7. มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์และสื่อสารเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการใหม่ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมในการจัดการไฟป่า ความรู้และรูปแบบการจัดการไฟป่าแบบต่างๆ หรือความเข้าใจเกี่ยวกับการเผาเพื่อลดเชื้อเพลิง เป็นต้น

ขณะที่ความคืบหน้าของการดำเนินการทำฝนเทียมของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ายังไม่ได้ผลนั้น นายทรง กลิ่นประทุม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือกล่าวว่า การทำฝนเทียมเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสภาพอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ยังไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การฝนเทียมเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าจะยังคงดำเนินต่อไป โดยจะมีการประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน ด้วยการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีความเหมาะสมหรือมีโอกาสที่จะเกิดฝนขึ้นได้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงก็จะส่งเครื่องบินขึ้นทำฝนหลวงทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น