xs
xsm
sm
md
lg

ทน.ขอนแก่นนำร่องใช้ระบบบำบัดน้ำเสียชีวภาพลดใช้พลังงานแห่งแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพีระพล พัฒนพีระเดช นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น -ทน.ขอนแก่น จับมือ ม.ขอนแก่น และ ม.เทคโนโลยีนะกะโอกะ ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียภายในชุมชนด้วยระบบชีวภาพลดการใช้พลังงาน แห่งแรกในโลก ประเดิมทดลองใช้แล้วกับระบบบำบัดน้ำเสียบึงทุ่งสร้าง

นายพีระพล พัฒนพีระเดช นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น เปิดเผยว่า จากภาวะอัตราการเจริญของเทศบาลนครขอนแก่นที่มีแนวโน้มในการที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านของชุมชนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตามมามากมาย ทั้งในเรื่องของมลภาวะและปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากชุมชน ซึ่งจากสถิติพบว่าเทศบาลนครขอนแก่นมีปริมาณน้ำเสียเดิมอยู่ที่ประมาณ 20,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน และปัจจุบันมีน้ำเสียเพิ่มขึ้นถึง 30,000-35,000 ลบ.ม.ต่อวัน

ขณะเดียวกัน บ่อบำบัดน้ำเสียของทางเทศบาล ยังคงต้องรองรับน้ำเสียจากชุมชนรอบข้าง และพื้นที่ตำบลข้างเคียงทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น

เทศบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่บ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลฯเดิมที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นระบบสระเติมอากาศ ซึ่งต้องใช้เครื่องเติมอากาศโดยค่าใช้จ่ายทั้งกระบวนการที่ใช้ในการบำบัดจะอยู่ที่ 150,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อปริมาณน้ำเสียเพิ่มขึ้นค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น แผนรองรับในอนาคต นอกจากการหาแนวทางการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีอื่นแล้ว ยังต้องมีแผนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย โดยจะเริ่มต้นจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อนำร่องก่อน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอนโยบายต่อที่ประชุมสภา เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากส่วนนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเทศบาลได้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม จากกรอบความร่วมมือระหว่าง เทศบาลนครขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะกะโอกะ ประเทศญี่ปุ่นในการที่จะนำระบบการบำบัดน้ำเสียชีวภาพ ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียชีวภาพแบบใช้อากาศ โดยนำมาใช้ควบคู่กับระบบถังตะกอน ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือนำร่องต้นแบบแห่งแรกของโลก ที่มีต้นทุนทางการการก่อสร้างที่ต่ำ

ที่สำคัญ เป็นระบบการบำบัดน้ำเสียที่ใช้พลังงานน้อย ใช้พื้นที่ในการจัดการที่น้อย เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้ในสภาวะวิกฤตพลังงาน และภาวะโลกร้อยในปัจจุบัน โดยเทศบาลนครขอนแก่นได้ทำการติดตั้งและทดลองใช้แล้ว ในบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียบึงทุ่งสร้างเมื่อปลายปี 2554

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบบำบัดน้ำเสีย SED-DHS ซึ่งได้ทำการทดลองแล้วพบว่าสามารถที่จะประหยัดค่าไฟฟ้าในการบำบัดน้ำเสียลดลง ลดไขมันในน้ำเสีย เพราะเป็นระบบบำบัดแบบชีวภาพใช้อากาศที่ไม่ต้องการการเติมอากาศ พร้อมทั้งตัวเครื่องยังคงมีการติดตั้งฟองน้ำมาเป็นตัวกลางในการยึดเกาะจุลินทรีย์

ช่องว่างของรูพรุนในฟองน้ำและช่องว่างระหว่างตัวกลางฟองน้ำแต่ละชิ้นถูกออกแบบมาเพื่อให้อากาศในธรรมชาติสามารถที่จะไหลเวียนเข้าสู่ภายในระบบได้อย่างเพียงพอที่จะทำให้จุลินทรีย์ใช้อากาศในการย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียได้ดี ทำให้จุลินทรีย์เข้าไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เพิ่มระยะเวลาการฟักตัวของจุลินทรีย์ในระยะนานเพียงพอที่จะให้จุลินทรีย์ย่อยสลายตัวเอง ช่วยลดการเกิดตะกอนส่วนเกิน นำมาซึ่งการประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของพลังงานไฟฟ้าและยังสามารถกำจัดจุลินทรีย์ส่วนเกิน ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศที่หลายหน่วยงานใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น