xs
xsm
sm
md
lg

จันท์เร่งวางแผนป้องกัน-แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดจันทบุรี จัดประชุมประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ พร้อมสำรวจข้อมูลปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและให้การช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน นอกจากนั้นยังเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ด้วย

เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (24 ก.พ.) นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง รวมทั้งสำรวจข้อมูลปริมาณน้ำในแหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัด ขณะเดียวกัน ยังประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัยในเพื้นที่ ประจำปี 2555 ณ ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี โดยมี นายเกรียงเดช เข็มทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

สำหรับการจัดประชุมดังกล่าว เป็นไปตามที่จังหวัดจันทบุรี ได้ประกาศให้ 8 อำเภอ 48 ตำบล 495 หมู่บ้าน คิดเป็นหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง ร้อยละ 87.15 จาก 10 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติแล้ง ซึ่งทางจังหวัดได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดจันทบุรี พ.ศ.2555 ขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี

รวมทั้งยังให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกด้วย

ขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรี ล่าสุด เขื่อนพลวง ความจุ 80.00 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเหลือในปัจจุบัน 60.052 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนคิรีธารความจุ 77.55 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเหลือในปัจจุบัน 58.940 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธความจุ 70.51 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำเหลือในปัจจุบัน 58.89 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำศาลทรายความจุ 10.00 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำเหลือในปัจจุบัน 9.08 ล้านลูกบาศก์เมตร

ฝายท่าระม้าความจุ 0.83 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำเหลือในปัจจุบัน 0.83 ล้านลูกบาศก์เมตร ฝายวังโตนดความจุ 10.81 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำเหลือในปัจจุบัน 3.75 ล้านลูกบาศก์เมตร ฝายยางจันทบุรีความจุ 4.20 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำเหลือในปัจจุบัน 3.40 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำคลองบอนความจุ 2.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำเหลือในปัจจุบัน 0.30 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดจันทบุรีนั้น ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดสรรรถบรรทุกน้ำ จำนวน 16 คัน จัดสรรเครื่องสูบน้ำ จำนวน 16 เครื่อง ลงไปในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 8 อำเภอ รวมทั้งดำเนินการจัดทำฝายชั่วคราวเพื่อชะลอการไหลของน้ำ จำนวน 89แห่ง ในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน 59 จุด และอำเภอสอยดาว จำนวน 30 จุด

พร้อมกันนี้ จังหวัดจันทบุรี ยังได้มีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัยในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่คาดการณ์ว่า ในปี 2555 นี้ จะมีปริมาณน้ำมาก มีฝนเยอะ และมีพายุเข้าสู่จังหวัดจันทบุรีหลายลูก ซึ่งทางจังหวัดได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมการป้องกันก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบด้วย การวางแผนป้องกันอุทกภัยโดยเร่งด่วน

ที่สำคัญ เพื่อให้สามารถป้องกันและรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีแผนเร่งด่วนในการลอกคูน้ำและระบายน้ำที่อุดตัน หรือ ตื้นเขินเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้สะดวก รวดเร็ว

รวมทั้งการขุดลอกคลอง หรือ แม่น้ำ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้สามารถรองรับน้ำ และระบายน้ำได้สะดวกรวดเร็ว การซ่อมแซมประตูระบายน้ำ และแนวคันกั้นน้ำ และการแผน ระบบเตือนภัย แผนอพยพประชาชน เป็นต้น อีกด้วย

นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยนั้น จังหวัดจันทบุรี จะมีประชุมใหญ่ในวันที่ 2 มีนาคมที่จะถึงนี้อีกครั้ง ทั้งนี้ เพราะจังหวัดจันทบุรี ไม่รับการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือเหมือนกับจังหวัดที่ติดกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจังหวัดจะกำหนดความต้องการของท้องถิ่นเสนอไปทางรัฐบาลอีกครั้ง เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีเป็นเมืองที่มีการปลูกผลไม้เป็นส่วนใหญ่ และหากเกิดผลกระทบก็จะทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน

ส่วนปัญหาอุทกภัยก็ได้วางแผนงาน และกำหนดทิศทางเพื่อบูรณาการร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดจันทบุรีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น