xs
xsm
sm
md
lg

เทศบาลเมืองแปดริ้วผุดคอมเพล็กซ์แห่งการเรียนรู้สนองตอบผู้มาเยือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทศบาลเมืองแปดริ้ว ผุดคอมเพล็กซ์ แห่งการเรียนรู้สนองตอบผู้มาเยือน
ฉะเชิงเทรา - เทศบาลเมืองแปดริ้วผุดคอมเพล็กซ์แห่งการเรียนรู้ สนองตอบผู้มาเยือนและคนในชุมชนให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ครบวงจร ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก

วันนี้ (21 ก.พ.) ดร.วิโรจน์ ศรีโภคา รองนายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา ฝ่ายการศึกษา กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก นายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา ให้ดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเมืองฉะเชิงเทรา ตามโครงการ “เปิดประตู สู่ห้องสมุดมีชีวิต” เพื่อใช้เป็นพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการอ่าน การฟังและการเรียนรู้ หนึ่งในเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้

โครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและพัฒนาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเองของเยาวชนในพื้นที่ทั้งการศึกษาภาคทฤษฏีและเรียนรู้ที่จะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม อีกทั้งยังเป็นการปูพื้นฐานของการดำรงชีวิตให้สามารถก้าวทันกระแสโลกที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของการพัฒนาประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ทางเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคนทุกฐานะระดับชั้นและอาชีพ ในทุกเพศ ทุกวัย ที่จะมาเสาะแสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ด้วยการลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ที่มีความหลากหลาย จึงถือเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดในการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้แห่งนี้ขึ้นมาโดยที่ประชาชนผู้เข้ามาใช้บริการนั้น ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการมาแสวงหาความรู้ และยังไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางเพื่อไปให้เข้าถึงแหล่งความรู้ตามที่ตนเองต้องการอีกด้วย

สำหรับศูนย์ข้อมูลแห่งการเรียนรู้ที่กำลังดำเนินการก่อตั้งขึ้นอยู่นี้จะเป็นแหล่งข้อมูลแห่งการเรียนรู้แบบครบวงจรที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกประชาชนสามารถเข้ามาสืบค้นข้อมูลได้อย่างครบถ้วนเต็มรูปแบบอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมทุกด้านในทุกพื้นที่ผ่านทางกระบวนการบริหารจัดการด้านทรัพยากรสารสนเทศที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ในการดำเนินการ

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า สำหรับรูปแบบนั้น จะก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 4 ชั้น มีรูปทรงเป็นลักษณะคล้ายกับหนังสือวางเรียงซ้อนกันขึ้นไป 4 เล่ม ภายในตัวอาคารมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกพร้อมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ติดตั้งระบบสื่อโสตทัศนูปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ติดตั้งระบบแสงเสียงและภาพที่มีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 4 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นจะมีพื้นที่ประมาณ1,500 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้มาก กว่า 2,000 คนพร้อมกัน ส่วนสถานที่จอดรถนั้นสามารถรองรับได้มากกว่า 100 คัน

ส่วนโซนพื้นที่ของอาคารชั้นที่ 1 จะประกอบไปด้วยห้องเด็ก (Kids Room) ซึ่งเป็นสถานที่ สำหรับเด็กๆ สามารถเรียนสนุกได้ในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย ลานสานฝัน(Open Square) พื้นที่เปิดกว้างสำหรับเด็กทุกวัย ในการแสดงความสามารถผลงาน ความคิด และกิจกรรมสร้างสรรค์ทุกประเภทมายด์รูม (Mind Room) เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ตามความสนใจเฉพาะด้านแหล่งนัดพบเพื่อจุดประกายและแลกเปลี่ยนความคิดของผู้คนรุ่นใหม่ มุมกาแฟ (Café) มุมบริการเครื่องดื่มและอาหารว่าง

ด้านโซนชั้นที่ 2 จะประกอบด้วย ห้องสมุดมีชีวิต (Reading Park and Mediatheque) ให้บริการค้นคว้าข้อมูลแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยหนังสือและสื่อมัลติมิเดีย แบบหลากหลาย เช่น หนังสือ วารสารสื่อการเรียนรู้อีเล็กทรอนิกส์ ทั้งไทยและสากล และเกมสร้างสรรค์ต่างๆ พร้อมด้วย ห้องสมุดไอที (IT Library) ศูนย์ข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ด้านไอที พร้อมด้วยหนังสือและสื่อความรู้ IT ที่หลากหลาย อาทิ Computer Internet และ Software Program ฝึกหัดต่างๆห้องฉายภาพยนตร์ (Mini Theater) ห้องจัดฉายภาพยนตร์ หนังสั้นแอนิเมชันของไทย และต่างประเทศรวมถึงผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่แบบไร้ขีดจำกัดทางจินตนาการ

ขณะที่ชั้น 3 และชั้นที่ 4 จะจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ (Learning Auditorium) ในทุกภาคการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนาการอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการเรียนรู้เชิงสาระบันเทิง เช่น การแสดงดนตรี ละครเวที หรือศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา (Knowledge Center of Chachoengsao ;KCC) ตั้งอยู่บนที่ดินเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ด้านหลังโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ถ.นรกิจ (ทางเข้าประตูน้ำท่าไข่) ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่ 1,981.27 ตารางวา ซึ่งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในต้นปี พ.ศ.2556

โดยจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา และใกล้เคียงให้สามารถเข้ามาเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการ ทั้งนักเรียน นักศึกษาซึ่งสามารถต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้จากนอกห้องเรียนได้อย่างสะดวก รวดเร็วบนระบบบริการที่ทันสมัย

ดร.วิโรจน์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการออกแบบตกแต่งตัวอาคารนั้น เป็นการผสมผสานระหว่างความงดงามของน้ำตกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนซึ่งมีระดับของชั้นหินและจังหวะการตกของน้ำที่มีรูปแบบอิสระไม่ตายตัวผสานเข้ากับรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาทางองค์ความรู้ของมนุษย์ที่มีเส้นสายของโครงสร้างที่ตายตัว และชัดเจน เมื่อนำทั้ง 2 สิ่งมารวมเข้าด้วยกัน จึงทำให้เกิดเป็นรูปร่างที่แปลกตาน่าสนใจเปรียบเสมือนมนุษย์ที่ต้องการค้นคว้า และเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ด้วยการออกแบบตกแต่งโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร
สถานที่ก่อสร้างศูนย์เรียนรู้  อยู่ด้านหลังโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์  ถ.นรกิจ (ทางเข้าประตูน้ำท่าไข่) ต.หน้าเมือง
รูปแบบแล้วเสร็จเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง  4 ชั้น มีรูปทรงเป็นลักษณะคล้ายกับหนังสือวางเรียงซ้อนกันขึ้นไป 4 เล่ม
ภายในอาคารแล้วเสร็จ จะตกแต่งอย่างสวยหรูและทันสมัย
กำลังโหลดความคิดเห็น