ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - 25 อำเภอ-อปท.-หน่วยงานราชการ จ.เชียงใหม่ พร้อมใจเซ็น MOU ดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด หลังจังหวัดเดินหน้าประกาศเป็นวาระจังหวัด ผู้ว่าฯ แจงขอทุกฝ่ายทำงงานตามแนวนโยบายรัฐบาล พร้อมวอนร่วมแรงร่วมใจแก้ปัญหาจริงจังเพื่อลูกหลานในอนาคต ด้านการแก้ปัญหาช่วง 4 เดือนของเชียงใหม่ผลงานรุดหน้า
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน แอนด์ รีสอร์ท เชียงใหม่ หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีนายอำเภอจากทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าและตัวแทนของส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วม
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการลงนามของทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่จังหวัดได้ประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระของจังหวัด “ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด” เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2554 ที่ผ่านมา โดยกำหนดการดำเนินงานใน 5 แผนงาน ได้แก่ แผนงานสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด แผนงานแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดนาเสพติด แผนงานสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด แผนงานปราบปรามยาเสพติดและบังคับใช้กฎหมาย และแผนงานสกัดกั้นยาเสพติดและความร่วมมือระหว่างประเทศ
ขณะที่การชี้แจงแนวทางการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบถึงนโยบายของรัฐบาล ที่ได้แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารส่วนกลางรวม 800 คน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย ยุทธศาสตร์รวม 8 ข้อ
ได้แก่ 1.ลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในทุกพื้นที่ให้ได้ร้อยละ 80 2.นำผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาจำนวน 400,000 คน และให้ผู้บำบัดร้อยละ 80 ไม่กลับไปใช้ยาเสพติดอีก 3.ให้เข้มงวดกวดขันสถานบันเทิงที่ละเมิดกฎหมาย 4.ดำเนินมาตรการปราบปรามและยึดทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง
5.พัฒนาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน องค์กรต่างๆ และภาคประชาชน ให้แจ้งเบาะแสกับทางราชการ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ให้ปลอดจากความเสี่ยงด้านยาเสพติด 6.ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำงานเป็นคู่แฝดกับกนระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดต้องทำงานร่วมกัน
7.ให้กองทัพ หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เพิ่มประสิทธิภาพการสกัดกั้นชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบนำยาเสพติดเข้าประเทศ และ 8.ให้ทุกฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อนงานในเชิงรุก เพื่อให้สังคมลดความรุนแรงจากปัญหายาเสพติด รวมทั้งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง) ดูแลเยียวยาเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด
หม่อมหลวง ปนัดดา กล่าวกับที่ประชุมภายหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า ขอให้ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันในการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้สังคมในจังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้น แม้ว่าการทำงานอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ปัญหาที่รุนแรงอยู่นี้บรรเทาเบาบางลงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตนอยากให้เพื่อนข้าราชการทุกคนคิดว่าการทำงานนี้ถือเป็นเกียรติยศในหน้าที่การงาน เพราะเมื่อวันหนึ่งหากพ้นจากภาระหน้าที่ทางราชการไปแล้ว ทุกคนจะได้ภูมิใจว่าได้ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาเพื่อประเทศชาติและลูกหลานในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 227 กม.นั้น มีอัตราการลักลอบนำเข้ายาเสพติดสูงถึงประมาณร้อยละ 40 ของกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน)
ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พบว่า จ.เชียงใหม่ มีหมู่บ้านและชุมชนที่ปรากฏข่าวสารปัญหายาเสพติดสูงถึง 1,799 แห่ง จากทั้งสิ้น 2,167 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 83.02 ประมาณการว่า มีผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ประมาณ 10,401 ราย ขณะที่สถิติการจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2553 คิดเป็นร้อยละ 56.26 และเพิ่มเป็นร้อยละ 72.94 ในปี 2554 โดยมีการจับกุมสูงถึง 8,954 ราย และมีผู้ต้องหาถึง 9,434 คน
ขณะที่การดำเนินงานตามวาระของจังหวัด “ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด” ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานอย่าในเกณฑ์สูงของประเทศ โดยได้ดำเนินการในหลายๆ ด้าน เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนเชิงคุณภาพด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดิน 9 แห่ง การนำผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดจำนวน 2,574 คน การบังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการ สถานบริการและแหล่งเสี่ยงในสังคม 1,258 ครั้ง และการปราบปรามจับกุมคดียาเสพติด 2,198 ราย ได้ผู้ต้องหา 2,266 คน เป็นต้น