xs
xsm
sm
md
lg

นอภ.จุน นำทีมสำรวจ “เวียงลอเมืองโบราณ” ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พะเยา - นายอำเภอจุนระดมทุกภาคส่วนร่วมสำรวจเวียงลอเมืองโบราณ ต้นตำนาน “ลิลิตพระลอ-ค่าวหงส์หิน” มุ่งหน้าพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และโศกนาฎกรรมตำนานรักอมตะของล้านนา

วันนี้ (1 ก.พ.) นายธงชัย ตรีทิพยรักษ์ นายอำเภอจุน จังหวัดพะเยา ได้นำคณะศูนย์ท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา วัฒนธรรมจังหวัดพะเยา ท้องถิ่นจังหวัดพะเยา ตลอดจนสื่อมวลชน และผู้นำท้องถิ่นประกอบด้วย นายก อบต. นายกเทศมนตรี กำนันทุกตำบลในอำเภอจุน เดินสำรวจเวียงลอเมืองโบราณ โดยมีนายชำนาญ บัวแดง นายกเทศมนตรีตำบลเวียงลอ และนางหลงใจ ต้นนา รองนายกเทศมนตรี, นายสมเพชร สักลอ นายกเทศมนตรีตำบลหงส์หิน และนายชัย โนชัย กำนันตำบลหงส์หิน อำเภอจุน ให้การต้อนรับ โดยเริ่มจากสักการะอนุสาวรีย์พญาลอหน้าวัดศรีปิงเมือง และรับฟังบรรยายสรุปความเป็นมาของเวียงลอ

นายธงชัยกล่าวว่า จะพัฒนาเวียงลอให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เน้นเป้าหมายเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมที่คนไทยรู้จักกันแพร่หลายคือ “ลิลิตพระลอ” ซึ่งเป็นวรรณกรรมรักอมตะที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของคนไทย มีต้นตำนานอยู่ที่เวียงลอ เมืองโบราณแห่งนี้เอง

และนอกจากตำบลลอจะเป็นต้นตำนาน “ลิลิตพระลอ”แล้ว ตำบลหงส์หิน ก็ยังเป็นต้นตำนาน “ค่าวหงส์หิน”วรรณกรรมพื้นบ้านยิ่งใหญ่ของล้านนา ตามคำขวัญของอำเภอจุนคือ “แหล่งปลาค้าว” ปลาน้ำจืดอยู่ที่หลังวัดศรีปิงเมือง “ค่าวหงส์หิน” “ถิ่นรักพระลอ” และ “พืชผลเกษตรเพียงพอ” ก็หมายถึง “ทุ่งลอ” ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่เหมาะแก่การทำนา มีอาณาเขตไปถึงอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เป็นต้น

“เวียงลอ” เป็นเมืองโบราณอายุร่วมพันปี ตั้งขึ้นมาราวศตวรรษที่ 17 ก่อนถูกทิ้งร้างไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ผังเมืองมีลักษณะค่อนข้างกลม มีแนวกำแพงเก่าเป็นคันดินและก่ออิฐเป็นบางส่วน ในเขตเมืองเก่าของเวียงลอ มีวัดร้างมากกว่า 50 วัด โดยวัดสำคัญที่ยังคงอยู่ได้แก่วัดศรีปิงเมือง วัดศรีเกิด ซึ่งสร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 ขณะที่วัดต่างๆและโบราณสถานจำนวนมากถูกลักลอบขุดค้นทำลายเพื่อหาโบราณวัตถุที่มีค่า เช่น พระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ และพระเครื่อง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการศึกษาด้านโบราณคดีเขตเมืองโบราณเวียงลอ มาเป็นระยะๆ ภายใต้การควบคุมของสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน มีเป้าหมายดำเนินการ คือ ขุดตกแต่งโบราณสถาน 16 แห่ง และ สันนิษฐานว่า โบราณวัตถุที่พบนั้นถูกทิ้งร้างไปช่วงปลายศตวรรษที่ 24 นอกจากนี้ ยังขุดค้นพบศพมนุษย์โบราณใต้กำแพงเมืองเวียงลออีกด้วย

ส่วนโบราณสถานที่พบในเขตกำแพงเมืองโบราณเวียงลอ ได้แก่ โบราณสถานเสาหลักเมือง กู่พระแก้ว วัดพระเจ้าเข้ากาด วัดสารภี วัดศรีชุม กู่หนองผำ กู่บวกกู่ วัดเวียงป่าสัก กู่มะม่วงแก้มแดง เป็นต้น

เมืองลอเมืองโบราณมีลำน้ำอิง แม่น้ำที่สามกษัตริย์คือ พ่อขุนงำเมือง พ่อขุนเม็งรายและพ่อขุนรามคำแหง ได้นั่งหันหลังพิงกันทำสัตย์ปฏิญาณเป็นเพื่อนร่วมสาบานไหลผ่าน ภายหลังแม่น้ำอิงเปลี่ยนทิศทาง ทำให้เมืองโบราณเวียงลอ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทิศใต้แม่น้ำอิงเป็นเขตตำบลลอ ส่วนทิศเหนือแม่น้ำอิงอยู่ในเขตตำบลหงส์หิน อำเภอจุน โดยมีสะพานแขวนเชื่อมเมืองโบราณทั้ง 2 ตำบลเข้าด้วยกัน

สำหรับการเดินทางไปเวียงลอเข้าได้ 2 ทางคือ ถ้าออกจากอำเภอเมืองพะเยา เข้าเขตอำเภอจุน เลี้ยวซ้าย ที่ตู้ยามกิ่วแก้ว อำเภอจุนไปถึงวัดศรีปิงเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร แต่ถ้ามาจากเชียงรายผ่านอำเภอเชียงคำ เข้าเขตอำเภอจุน เลี้ยวขวาที่ทางแยกบ้านห้วยงิ้ว ต.ทุ่งรวงทอง อ.จุน ถึงวัดศรีปิงเมือง ประมาณ 12 กิโลเมตร ทั้ง 2 เส้นทางเดินทางได้สะดวก เพราะเป็นถนนลาดยางตลอดทั้ง 2 สาย




กำลังโหลดความคิดเห็น