xs
xsm
sm
md
lg

บุรีรัมย์แล้ง “น้ำมูล” แห้ง กระทบเลี้ยงปลากระชัง วอนรัฐเร่งสร้างเขื่อนช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภัยแล้งเริ่มคุกคาม น้ำมูล อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ แห้งขอดตื้นเขินเร็วกว่าทุกปีส่งผลกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ต้องชะลอและเลิกเลี้ยงไปแล้วกว่า 20 ราย วันนี้ ( 30 ม.ค.)
บุรีรัมย์ - ภัยแล้งเริ่มคุกคามบุรีรัมย์ น้ำมูลแห้งขอดตื้นเขินเร็วกว่าทุกปี ส่งผลกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ต้องชะลอและเลิกเลี้ยงไปแล้วกว่า 20 ราย หวั่นปลาช็อกตายขาดทุนระนาว วอนรัฐเร่งเข้ามาสำรวจสร้างฝาย-เขื่อนยางกั้นน้ำสามารถเลี้ยงปลาได้ตลอดทั้งปี ขณะที่ผู้ว่าฯ สั่งตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งทั้ง 23 อำเภอ คาดแล้งรุนแรงยาวนานกว่าทุกปี

วันนี้ (30 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคุกคามในหลายพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ โดยเฉพาะน้ำในลำน้ำมูลที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ มีสภาพแห้งขอดตื้นเขินเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา บางช่วงแห้งจนมองเนินดินอย่างชัดเจน และสามารถเดินข้ามผ่านไปมาได้อย่างสบายทำให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในลำน้ำมูล ที่ บ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก ได้รับความเดือดร้อนหนัก ต้องชะลอและเลิกเลี้ยงไปแล้วกว่า 20 ราย

จากเมื่อก่อนมีเกษตรกรเลี้ยงปลานิล และปลาทับทิมในกระชังมากกว่า 30 ราย ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10 รายเท่านั้น เพราะเกรงว่าปริมาณน้ำมูลที่ตื้นเขิน จะทำให้น้ำไม่ไหลเวียน เน่าเสีย เป็นกรดแก๊ส ขาดออกชิเจน ซึ่งจะส่งผลให้ปลาที่เลี้ยงไว้ขาดอากาศหายใจและช็อกตาย เสี่ยงต่อการประสบปัญหาขาดทุน เพราะส่วนมากเกษตรกรจะกู้ยืมเงินนอกระบบ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาลงทุน มีหนี้สินเฉลี่ยรายละตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท จากทุกปีเคยเลี้ยงได้ถึง 3 ครั้ง แต่ปีนี้เลี้ยงได้เพียง 2 ครั้ง ทำให้ปีนี้เกษตรกรต้องเสียโอกาสขาดรายจากการเลี้ยงปลาในกระชังขาย

นายพรม ขาวงาม เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ปีนี้น้ำในลำน้ำมูลแห้งเร็ว และตื้นเขินเร็วกว่าทุกปี จากเมื่อก่อนน้ำจะลดลงประมาณช่วงปลายเดือน ก.พ. หรือต้นเดือน มี.ค. แต่ปีนี้เริ่มลดลงตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. ถึงต้นเดือน ม.ค. จนขณะนี้น้ำเริ่มตื้นเขินบางจุดแห้งขอดสามารถเดินข้ามไปมาได้ ทำให้เกษตรกรบางรายต้องชะลอและเลิกเลี้ยงปลาในกระชัง เพราะปลาจะช็อกตายและประสบปัญหาขาดทุน

จากปัญหาดังกล่าวจึงเรียกร้องให้ทางภาครัฐเร่งเข้ามาสำรวจสร้างฝาย หรือเขื่อนยาง เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำในลำน้ำมูลไว้ให้เกษตรกรทำนาและประกอบอาชีพเลี้ยงปลาได้ตลอดทั้งปี เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งซ้ำซากมาอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้ จ.บุรีรัมย์ เริ่มเข้าสู่ภาวะภัยแล้งแล้ว จึงได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ทั้ง 23 อำเภอ เตรียมพร้อมในการช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยแล้ง โดยการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากภาวะภัยแล้งทันทีที่เกิดภาวะความแห้งแล้งรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นได้เน้นย้ำให้ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนก่อนเป็นหลัก พร้อมทั้งได้สั่งการให้สำรวจ ประปา บ่อบาดาลและถังกักเก็บน้ำกลางหมู่บ้าน ที่ชำรุดเสียหายและเร่งดำเนินการซ่อมแซมให้สามารถใช้การได้เพื่อไม่ให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง

พร้อมกันนี้ยังสั่งการไปยังนายอำเภอทั้ง 23 อำเภอ จัดตั้งศูนย์บรรเทาปัญหาภัยแล้งและหากพบว่าประชาชนพื้นที่ใดขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคจะให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมรถบรรทุกน้ำเพื่อนำน้ำสะอาดไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งเบื้องต้น



นายพรม ขาวงาม เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์



กำลังโหลดความคิดเห็น