น่าน - แล้งนี้ ตลอดลำน้ำน่านแห้ง-ตื้นเขินเป็นจุดๆ ตลอดแนวแล้ว ทำให้เกษตรกรริมน้ำที่ปลูกพืชไม่ได้ต้องพลิกวิกฤต พากันดำน้ำหากรวด หิน ทรายขึ้นมาขายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวสู้ภัยแล้ง จนทำเงินได้วันละกว่า 700 บาท
รายงานข่าวจากจังหวัดน่าน แจ้งว่า แม้ว่าขณะนี้เพิ่งจะย่างเข้าสู่ฤดูแล้งก็ตาม แต่ลำน้ำหลายสายในจังหวัดน่านก็แห่งขอดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยเฉพาะลำน้ำน่าน ที่เป็นแม่น้ำสายหลัก เริ่มตื้นเขิน สันดอนทรายโผล่เป็นช่วงๆ ทำให้เกษตรกรที่อยู่ตามริมน้ำน่าน ที่เคยประกอบอาชีพปลูกพืชผักเลี้ยงชีพไม่สามารถเพาะปลูกได้
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรหลายรายก็สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนอาชีพมาดำน้ำหากรวด หินทรายขายให้นายทุนที่นำรถมาบรรทุกซื้อถึงริมฝั่งเพื่อเลี้ยงชีพช่วงหน้าแล้งนี้ สร้างรายได้ให้วันละกว่า 700 บาท
ชาวบ้านจะนำเรือท้องแบนและเกวียนเทียมวัวไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำบริเวณที่มีหิน ทรายโผล่ แล้วก็ดำน้ำนำบุ้งกี๋ใส่หิน ทราย จากนั้นก็ร่อนจนเศษดิน วัสดุที่ไม่ต้องการออกจนหมดจึงจะเทลงใส่เรือ และเกวียนที่ลอยลำรออยู่ จนเต็มลำเรือและเกวียน เสร็จแล้วก็จะนำขึ้นฝั่งเพื่อเทกองไว้ริมน้ำเตรียมขายให้นายทุน ที่จะนำรถมาซื้อถึงที่ในราคาลูกบาศก์เมตร หรือคิวละ 300 บาท ซึ่งแต่ละวันจะสามารถหาได้อย่างมาก 2-3 คิวเท่านั้น เพราะแต่ละครั้งต้องออกแรงมากทำให้เหนื่อยเกินกำลัง
นายทองอยู่ สิทธิยะ ชาวบ้านบ้านท่าลี่ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน ผู้ผันตัวเองจากการปลูกพืชริมน้ำน่าน กล่าวว่า ลงทุนซื้อวัวมา 1 คู่ ราคา 55,000 บาท และเกวียนในราคา 5,000 บาท รวม 60,000 บาท เพื่อทำการเกษตร แต่ช่วงแล้งนี้ไม่สามารถทำได้ จึงหันมาดำน้ำหาหิน กรวดและทราย ขายให้นายทุนนำไปก่อสร้าง โดยขายได้คิวละ 300 บาท แต่ถ้าเป็นทรายก็จะราคาดีถึงคิวละ 500 บาท มีรายได้วันละ 300-600 บาท
ฤดูแล้งปีนี้ เชื่อว่า จะสามารถทำเงินจากการดำน้ำหาหิน กรวด และทราย ขายได้ไม่ต่ำกว่า 50,000-60,000 บาท คุ้มกับที่ลงทุนซื้อวัวและเกวียน ที่เหลือก็จะเป็นกำไรจากการขายวัวนั่นเอง
“ทำอย่างนี้มาเป็นเวลาถึง 10 ปีแล้ว โดยปีนี้น่าจะมีวัตถุดิบมาก เพราะช่วงหน้าฝนที่ผ่านมาน้ำพัดหินทรายมามาก”
ขณะที่ นายถวิล ธิมา อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12/5 บ้านท่าลี่ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน กล่าวว่า ทำอาชีพขุดทรายแม่น้ำขายมานานกว่า 20 ปี ซึ่งแต่ละปีจะทำเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในฤดูแล้ง ที่แม่น้ำแห้งขอด ก็สามารถหารายได้วันละกว่า 700 บาท แต่ก็ต้องออกแรงขุดทรายเทียมเกวียนไปส่งขายวันละ 4-5 รอบ นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยขุดลอกแม่น้ำ ทำให้ลึกและมีน้ำมากขึ้น ส่วนทรายที่ขุด ก็เป็นทรายธรรมชาติที่จะไหลมากับช่วงหน้าน้ำหลากทุกๆ ปี
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงมือก็ต้องออกสำรวจหาแหล่งที่พอจะคุ้มกับการลงไปดำหาด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเสียเวลากลับมือเปล่า ส่วนใหญ่ก็จะทำบริเวณลำน้ำน่านที่อยู่ช่วงท้าย ๆ เมืองหรือหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และทำให้น้ำขุ่นเป็นปัญหาต่อการใช้น้ำของชุมชน หมู่บ้านได้