ประจวบคีรีขันธ์ -ผู้ว่าฯประจวบคีรีขัน ร่วมกับ อปท. ตำรวจ ทหาร กลุ่มอนุรักษ์ช้างป่า และชาวบ้าน ระดมสมองวางแนวทางแก้ปัญหาช้างป่าเพื่อให้ทั้งคนและช้างอยู่ร่วมกันได้ ทั้งการสร้างรั้วเตือนภัย ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกพืชอาหารช้าง การขุดคู สร้างหอระวังช้างป่า และหาจุดให้อาหารช้างป่า และสั่งห้ามนำผลไม้และพืชผักให้ช้างป่าริมถนนทางเข้าหมู่บ้านป่าละอู รวมไปถึงห้ามพระสงฆ์ธุดงค์ในพื้นที่ป่าที่มีช้างอยู่ เพื่อความปลอดภัย
วันนี้ (18 ม.ค.) ที่ศูนย์โอทอปองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ,นายสมชาย บำรุงทรัพย์ นายอำเภอหัวหิน ,นายเอกธนา ลิ้มเสรี นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ท้องถิ่นอำเภอหัวหิน ปลัดอำเภอ ได้ร่วมกันประชุมร่วมกับชาวบ้านป่าละอู กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ชมรมคนรักษ์ช้างป่าละอู ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ตชด.145 และตำรวจพลร่วมค่ายนเรศวร เจ้าหน้าที่อุทยานฯแก่งกระจาน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโขลงช้างป่าละอูที่ลงมากัดกินพืชไร่ของชาวบ้าน ตลอดจนปัญหาช้างทำร้ายพระจนมรณภาพและได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงปํญหาการนำผลไม้และพืชผักไปให้ช้างป่าตามบริเวณริมถนนทางเข้าหมู่บ้าน รวมทั้งฝูงลิงเสนจำนวนมาก
นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ กล่าวว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์ปัญหาช้างป่าที่อาศัยหากินอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถูกยิงและผานั่งยางมีการตัดเอางา อวัยวะเพศและชิ้นส่วน ในพื้นที่บ้านป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการณ์ที่น่าเสียใจและคนไทยทั่วประเทศต่างให้ความสนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น รวมไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาการล่าช้างป่าที่เกิดขึ้น โดยพื้นที่ป่าละอู อ.หัวหิน เป็นพื้นที่ติดต่อกับบ้านป่าเด็ง โขลงช้างป่าที่อาศัยหากินอยู่ในบริเวณนี้ก็เป็นโขลงเดียวกันที่เคลื่อนย้ายไปหากินในหมู่บ้านป่าเด็ง
ในที่ประชุมทั้งในส่วนของ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านและตัวแทนจากชมรมคนรักษ์ช้างป่าห้วยสัตว์ใหญ่ ต่างให้ความเห็นในหลากหลายมุมมอง ทั้งเรื่องของการให้อาหารช้างป่า ซึ่งก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมไปถึงการเสนอแนวทางการแก้ไขทั้งเรื่องการสร้างแนวรั้วสัญญาณไฟฟ้าไซเรนเตือนเวลาช้างป่าเข้า การใช้รั้วไฟฟ้าแรงต่ำจากแบตเตอรรี่ การการขุดแหล่งน้ำเพื่อให้ช้างป่าและชาวบ้าน การปลูกพืชอาหารช้าง การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื่น
รวมไปถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าเข้ามาเหยียบย่ำพืชไร่ และการสร้างจุดให้อาหารช้างป่า การสร้างหอเฝ้าระวังช้างป่า และหอดูช้างป่า การขุดคู การทำถนนลำลองตรวจการพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งหมดเห็นว่าทางจังหวัดควรมีงบประมาณเข้ามาดำเนินการ
ด้าน พ.อ.วิวัฒน์ หงส์บันดาลสุข รอง ผบ.ฉก.จงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ กล่าวด้วยว่า เรื่องปัญหาช้างป่าที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมใจกันแก้ไขปัญหาทั้งคนทั้งช้างต้องอยู่ร่วมกันได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นห่วงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และไม่ต้องการให้ปัญหาเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันอีก และรู้สึกที่ทุกคนที่มาร่วมประชุมวันนี้มีจิตใจในการร่วมอนุรักษ์ช้างป่า
โดยทางผู้บัญชาการทหารบกก็ได้สั่งการมาให้ดำเนินการในด้านต่างๆในการที่จะเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งทำอย่างไรให้คนอยู่กับช้างและไม่มาทะเลาะกัน เป็นไปในแนวทางเดียวกันซึ่งมีตัวอย่างที่ดีๆ ที่จะให้ทั้ง อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มอนุรักษ์ช้าง ไม่ว่าจะเป็นที่ห้วยฮ่องไคร้โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีการทำฝายแม้วนับ 100 ฝาย จากดินที่แห้งแล้งในปัจจุบันมีทั้งน้ำและสัตว์ป่า ซึ่งฝายแม้วไม่ได้ใช้เงินลงทุนที่มากมายมหาศาล ใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ หน่วยงานต่างๆเสนอฝายละเกือบเป็นแสนๆบาท จึงอยากฝากให้ลองไปทำดูและอาศัยแรงงานชาวบ้าน ลงทุนฝายละไม่เกิน 5,000 บาท
ดังนั้น ฝายแม้จึงทำได้เลย รวมไปถึงหากทางอุทยานฯแก่งกระจาน อนุญาตทางชุมชนก็ควรเข้าไปดำเนินการตามจุดต่างๆ อุปกรณ์ที่ต้องใช้มีเพียง ลวด ตะปู ค้อน ในการตอกให้ไม้จมลงไปในดินใช้หินใช้ไม้ในบริเวณจุดต่างๆทำ เพื่อเป็นการชะลอน้ำให้ไหลได้ช้าลง ที่ผ่านมาน้ำในหน้าฝนมีมากแต่เราไม่มีการจัดสรรให้เกิดประโยชน์ และยากให้ไปศึกษาดูงานการอนุรักษ์สัตว์ป่าของพระอย่างหลวงตามหาบัว ที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งวิธีของพระได้ใช้ความเมตตาไม่ได้ทรมานและทำร้ายสัตว์
ด้านนายเอกธนา ลิ้มเสริ นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาพระที่มรณภาพจากช้างป่าเหยียบนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนกรณีพระที่ถูกช้างเตะจนได้รับบาดเจ็บ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพระรูปดังกล่าวที่มาจากจังหวัดพัทลุง รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำผลไม้ไปวางให้ช้างป่า บริเวณข้างร้านอาหารครัวสหกรณ์และพระรูปดังกล่าวยังนั่งอยู่กลับพื้นดินในขณะที่ช้างป่าเดินเข้ามากินผลไม้และยังไม่ยอมลุกหนีไป
จนกระทั่งช้างป่าใช้เท้าเตะเข้าไปที่ลำตัวจนกระทั่งศรีษะไปชนกับปีกไม้และทำให้ศรีษะแตก และขณะที่ช้างจะเข้าไปเหยียบซ้ำปรากฏว่า รองนายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เห็นเข้าจึงใช้อาวุธปืนพกสั้นยิงขึ้นฟ้า ทำให้ช้างป่าเตลิดออกไปหากไม่เช่นนั้นพระรูปดังกล่าวอาจถูกช้างป่าเหยียบมรณภาพได้ ยอมรับว่าปัญหาโขลงช้างในขณะนี้กระจายออกหากินในทุกหมู่บ้านเป็นโขลงย่อยๆ ตั้งแต่ 3 ตัว-ตัวก็มี
ส่วนบนถนนลาดยางทางเข้าหมู่บ้านก็จะพบเห็นช้างป่าเพศผู้ และเพศเมีย ที่ออกมาหากินตั้งแต่ช่วงบ่ายๆและลิงเสนฝูงละ 50-100 ตัว อยู่บนถนนซึ่งนักท่องเที่ยวที่ขับรถผ่านก็ต้องระวังในช่วงนี้ ส่วนกลางคืนก็ยังมีโขลงช้างออกมาเช่นกัน นอกจากนั้น ปัจจุบันปัญหาภัยแล้งก็เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากลำห้วยและแอ่งน้ำต่างๆในพื้นที่แห้ง เบื้องต้นตอนนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกตระเวนดูในพื้นที่และบริเวณถนนทางเข้าหมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ หากพบช้างก็จะทำการผลักดันให้เข้าป่า
นอกจากนั้น ทาง อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย จะได้ร่วมจัดทำหนังสือ”โขลงช้างป่าละอู” กับแนวทางการอนุรักษ์ และทำอย่างไรให้คนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันได้ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
นายลำยอง พูลนำเภา ประธานชมรมคนรักษ์ช้างป่าหัวยสัตว์ กล่าวด้วยว่าขณะนี้ทางชมรมฯและเจ้าหน้าที่อุทยานฯแก่งกระจาน สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และชาวบ้าน 6 หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ได้มีการออกประชาคมหมู่บ้าน และออกสำรวจแนวจุดที่จะสร้างแนวรั้วสัญญาณเตือนภัยไซเลน พร้อมขุดคู สร้างเช็คแดรม สร้างฝายแม้ ทำโป่งเทียม ทำแนวถนนตรวจการณ์ และจัดกล้าไม้พืชอาหารช้างเพื่อเตรียมปลูกในฤดูฝน และจัดอาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนแล้ว หากทำสำเร็จช้างป่าก็จะไม่ออกมารบกวนชาวบ้าน จึงนำเสนอโครงการให้ทางจังหวัดพิจารณาต่อไป
นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ย้ำว่า นับจากนี้ต่อไปจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์”คนทำร้ายช้างป่า”เกิดขึ้นอีก พร้อมเตรียมนำภาพถ่ายนายสมบูรณ์ เวนะ ผู้ต้องหาคดียิงช้างป่าที่สามร้อยยอด เพื่อตัดเอางามาแจกจ่ายให้กับชุมในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ติดตามเร่งรัดจับกุมให้ได้โดยเร็ว พร้อมสั่งห้ามมีการนำผลไม้พืชผักนำไปให้ช้างป่า ตามริมถนนโดยเด็ดขาดเนื่องจากจะทำให้ช้างป่าติดนิสัยความเคยชิน
รวมไปถึงห้ามพระภิกษุไปธุดงค์ในป่าที่มีช้างป่าเข้าไปอาศัยหากิน จุดนี้เพื่อความปลอดภัย รวมไปถึงการสั่งห้ามใช้ลวดไฟฟ้าที่เป็นอันตรายกับช้างป่าจนถึงตาย อย่างกรณีที่เกิดขึ้นที่ ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา
สิ่งสำคัญที่สุดต้องยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในป่า ไม่ว่าจะเป็นฝายแม้วกระจายอยู่ในผืนป่า และการสร้างพืชอาหารช้างในป่า โดยอาจใช้วิธีการที่เจ้าหน้าที่ อุทยานฯ ทหาร ตชด. เวลาออกลาดตระเวนของนำเมล็ดพันธุ์ไม้ต่างๆไปโปรย อาจเป็นช่วงฤดูฝนซึ่งอาจจะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต
"ผมจะรวบรวมการนำเสนอของชาวบ้านและหน่วยงานเกี่ยวข้องในวันนี้ทั้งหมดมาเป็นแผนของจังหวัดต่อไป และจะพิจารณาดูว่าส่วนใดเหมาะสมสิ่งไหนดำเนินการได้ก็ต้องจัดทำทันส่วนการจัดหาสถานที่ให้อาหารช้างป่าเพื่อรองรับคนที่อยากจะให้อาหารช้างป่าก็ต้องมาพิจารณา เรื่องนี้ทาง อบต.ห้วยสัตว์ต้องไปดูพื้นที่เพื่อความเหมาะสม แต่ต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำอยู่ในบริเวณป่า รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนอาหารช้างป่า" นายวีระ กล่าว และกล่าวต่อว่า
“เบื้องต้นในปีงบประมาณ 2556 ทางจังหวัดได้บรรจุแผนในเรื่องของการแก้ปัญหาช้างป่าในพื้นที่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน กว่า 5 ล้าน 2 แสนบาท ซึ่งจะมีการสร้างหอดูช้าง กรทำโป่งเทียม การสร้างฝาย 50 จุด แนวรั้วสัญญาณเตือนภัย 10 กม.ปลูกต้นสน 80,000 ต้น และจัดซื้อวิทยุให้กับอาสาสมัครเฝ้าระวังป้องกันช้างป่า ทั้งหมดนี้ก็อาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โดยจะนำแผนที่ชาวบ้าน และอบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เสนอ นำมาดูความสำคัญอีกครั้ง เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างถาวร”