ฉะเชิงเทรา - ระบบขนส่งระบบรางคู่ภาคตะวันออกได้ฤกษ์เปิดตัว สายแปดริ้ว-แหลมฉบัง ด้าน รมช.คมนาคม ชี้การขนส่งสินค้าระบบรางจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นไปยังภาคเหนือและอีสาน ไปสู่ท่าเรือภาคตะวันออก
วันนี้ (12 ม.ค.) พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม พร้อมด้วยนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะ ได้เดินทางมาเปิดตัวรถไฟรางคู่สายฉะเชิงเทรา-แหลมฉบังอย่างเป็นทางการ โดยมีนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยข้าราชการในพื้นที่เดินทางมาคอยต้อนรับ
จากนั้นได้โชว์ระบบการขนส่งผู้โดยสารในอนาคตที่จะดูแลให้ครอบคลุมถึงคนพิการด้วย และถือเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ก่อนที่ขบวนรถเที่ยวพิเศษคันสีม่วงเกือบทั้งขบวนจะออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังสถานีรถไฟแปดริ้ว ซึ่งอยู่ถัดไปจากสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ประมาณ 3 กม.เศษที่ด้านหลังตลาดสดบ่อบัว จากนั้นจึงเดินทางกลับ
ทั้งนี้ ระหว่างการเดินทางมาเปิดเส้นทางรถไฟรางคู่สายตะวันออกนั้น พล.ต.ท.ชัจจ์ได้ให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ถึงการขนส่งสินค้าผ่านขบวนรถไฟในระบบรางคู่ว่า ทางรถไฟรางคู่จากฉะเชิงเทราไปถึงยังท่าเรือแหลมฉบังได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยความจำเป็นนั้นเพื่อขนถ่ายสินค้าภายในประเทศ จากทางภาคอีสาน และภาคเหนือไปออกสู่ทะเลที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ผ่านมามีเพียงรางเดียวนั้นไม่เพียงพอและล่าช้า เมื่อรถสวนกันก็จะต้องรอหลีกทาง
เดิมการขนส่งสินค้าได้เพียงปีละ 4 แสนตู้ หลังเปิดเส้นทางแล้วจะขนได้มากขึ้นถึง 8 แสนตู้เป็นอย่างน้อย ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้นมีสินค้าล้นท่าเรือถึงปีละ 1.2 ล้านตู้และยังต้องใช้การขนถ่ายทางรถยนต์ในส่วนที่เหลืออีก 4 แสนตู้ควบคู่ไปด้วย
ขณะที่การเจริญเติบโตนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมท่าเรือแหลมฉบังนั้นมี 2 เฟส ขณะนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องขยายไปถึงเฟส 3-4 ซึ่งการขนถ่ายสินค้าก็จะมีเพิ่มขึ้นไปอีกมาก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างทางรถไฟและสร้างคลังสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวต่อว่า ในอนาคตจะต้องเร่งสร้างขยายทางรถไฟรางคู่จากฉะเชิงเทรา (คลอง 19) ไปถึงยัง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยเชื่อมกันที่สถานีภาชี อีกเส้นทางหนึ่งด้วยเพื่อเป็นการขยายการขนส่งสินค้าไปยังภาคเหนือ และภาคอีสาน จึงจะครบวงจรก่อนที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงอีกต่อไป ซึ่งต้องขยายต่อไปอีกมากเพื่อให้ทันกับเศรษฐกิจโลก และผลผลิตของประเทศ ทั้งการนำเข้าและส่งออก