สกลนคร - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สกลนคร จัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อประมวลเป็นข้อมูลจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบมีส่วนร่วม สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ปี 55-59 และพร้อมสนองตอบความต้องการการพัฒนาของท้องถิ่น
วันนี้ (10 ม.ค.) ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ได้จัดประชุมระดมความคิดเพื่อการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบมีส่วนร่วม โดยมี ดร.กระหยิ่ม ศานต์ตระกูล กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.) เป็นประธานในการประชุม
ดร.กระหยิ่ม ศานต์ตระกูล กรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.) ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานและเชื่อมโยงการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2555-2559) ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีความเชื่อโยงและสอดคล้องกับแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) นโยบายรัฐบาล และนโยบายแนวทางการวิจัยของชาติระยะยาว (พ.ศ.2553-2572)
ตลอดจนนโยบายและยุทธศาสตร์ของหน่วยงานบริหารการวิจัย หน่วยงานให้ทุนวิจัย หน่วยงานที่ใช้ผลงานวิจัย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในส่วนกลางและภูมิภาค โดยได้บูรณาการข้อมูลจากยุทธศาสตร์การวิจัย (พ.ศ.2555-2559) ทั้ง 4 ภูมิภาค ทางสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.) จึงต้องดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ดังกล่าวสู่การปฎิบัติทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ที่เน้นการขับเคลื่อนแบบส่วนร่วมและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
โดยอาศัยกลไกของเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ในการประสานและเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายการวิจัยในภูมิภาคทั้งที่เป็นหน่วยให้ทุน หน่วยทำวิจัย ผู้ใช้ประโยชน์จากการวิจัย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
การจัดการระดมความคิดเพื่อการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบมีส่วนร่วม ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยรายสาขาของภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2555-2559) และยุทธศาสตร์การวิจัย (พ.ศ.2555-2559) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตลอดจนสนองตอบความต้องการการพัฒนาของท้องถิ่น และเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
การจัดการระดมความคิดเพื่อการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบมีส่วนร่วมในครั้งนี้ มีผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ส่วนราชการ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และ นักวิจัย ปราชญ์ชาวบ้าน ประชาชน ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จำนวน 100 คน