xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่อีสานจี้ยกเลิก กม.เอื้อนายทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิสถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้จัดเวทีระดมข้อมมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อผลักดันเสนอให้มีการยกร่าง “ พระราชบัญญัติแร่ (ภาคประชาชน) ” พร้อมกันนั้นได้ร่วมกันนำเสนอมุมมองต่อการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ ฉบับปี พ.ศ.2510
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบกับการทำเหมืองแร่ เปิดเวทีระดมความเห็นปัญหาการบังคับใช้กฏหมายแร่ พร้อมเห็นด้วยที่จะมีการผลักดันจัดทำร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ที่จะออกโดยภาคประชาชน เพื่อยกเลิกกฎหมายเก่าที่เอื้อต่อนายทุนเหมืองเท่านั้น มองข้ามการมีส่วนร่วมของประชาชนชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

รายงานข่าวแจ้งว่า ณ ห้องประชุมอาคาร 14 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จ.อุดรธานี มูลนิธิสถาบันศึกษาเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้จัดเวทีระดมข้อมมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อผลักดันเสนอให้มีการยกร่าง “ พระราชบัญญัติแร่ (ภาคประชาชน) ” เพื่อร่วมกันนำเสนอมุมมองต่อการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ ฉบับปี พ.ศ.2510โดยมีเครือข่ายองค์กรชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการเหมืองแร่ ประมาณ 50 คนเข้าร่วม แสดงความเห็น
                  
อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กลุ่มเครือข่ายผลกระทบจากการทำนาเกลือ จ.นครราชสีมา กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ ต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย เป็นต้น

โดยมีอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อัยการ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.แร่ เปิดประเด็นให้ข้อมูลความรู้ว่า พ.ร.บ.แร่ ฉบับแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2510 โดยเริ่มต้นการออกพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ซึ่งหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับแรกอยู่ที่การให้ความสำคัญในการเปิดการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ ให้เกิดการขยายตัวในการขออนุญาตทำเหมืองแร่ และเน้นการผูกขาดการให้อนุญาตอยู่ที่อำนาจรัฐ

ต่อมา พ.ร.บ.แร่ (แก้ไขฉบับที่ 2) ปี พ.ศ.2516 ได้เพิ่มการให้สัมปทานอนุญาตในการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน และ พ.ร.บ.แร่ (แก้ไข ฉบับที่ 5) ปี พ.ศ.2545 เพิ่มการให้สััมปทานอนุญาตทำเหมืองใต้ดิน โดยทั้งสองฉบับที่แก้ไขเป็นการขยายขอบเขตอำนาจรัฐเพื่อการรองรับการสัมปทานแร่ที่หลากหลายขึ้น โดยใช้หลักการ แร่อยู่ที่ใด แก้กฎหมายให้สัมปทานได้ที่นั่น ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ไข พ.ร.บ.แร่ มาแล้วทั้งสิ้น 5 ฉบับ และปัจจุบันยังคงใช้ กฎหมายแร่ ปี พ.ศ.2510

อาจารย์ศักดิ์ณรงค์ มงคล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่ติดตามศึกษา พ.ร.บ.แร่ อย่างต่อเนื่อง ให้ความเห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องยกเลิก กฎหมายแร่ ฉบับ พ.ศ.2510 นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจในการจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศ ไปตกอยู่กับกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการ และภาครัฐเพียงอย่างเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลพื้นฐานของทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ในชุมชนตน เพื่อนำสู่การจัดการทรัพยากรแร่ร่วมกัน  

โดยภาคประชาชนต้องร่วมกันออกแบบร่างกฎหมายแร่ ที่ร่างขึ้นจากตัวประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่และจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่เอง หากร่างกฎหมายแร่ภาคประชาชนแล้วเสร็จก็จะร่วมกันผลักดันสู่กรอบมติของประชาคมทั่วประเทศต่อไป

ในส่วนของตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ต่างมีความเห็นว่า สิทธิของประชาชนในการจัดการทรัพยากรในปัจจุบันมีอยู่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 66 และ 67 ว่าด้วยสิทธิชุมชน มาตรา 41 สิทธิในทรัพย์สินที่ดิน และมาตรา 43 สิทธิในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ซึ่งหากประกอบขึ้นร่วมกับร่างกฎหมายแร่ของภาคประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ย่อมจะทำให้ประชาชนมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรตนเองได้อย่างยั่งยืนและสมดุล

นายถาวร เพชรขุนทด แกนนำกลุ่มเครือข่ายผลกระทบจากการทำนาเกลือจาก จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎหมายแร่ปล่อยให้ภาครัฐเป็นผู้จัดการทรัพยากรเพียงฝ่ายเดียวนั้น มักจะมีปัญหาตามมา เช่น ในกรณีของ อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา ที่ดินไร่นาของชาวบ้านเสียหายจากการปล่อยน้ำเกลือลงสู่ไร่นาชาวบ้านของอุตสาหกรรมเหมืองเกลือขนาดใหญ่ จนทำนาไม่ได้ คิดเป็นพื้นที่เสียหายกว่า 2,000 ไร่ มิหนำซ้ำกฎระเบียบหรือกฎหมายเองก็ยังเอื้อต่อนายทุนเป็นอย่างมาก

“การมีกฎหมายแร่ที่ยกร่างโดยภาคประชาชนนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ตนก็คาดว่าหากกฏหมายแร่ฉบับใหม่เกิดขึ้นได้จริง จะทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการทรัพยากรโดยพวกเราเองอย่างแท้จริง” นายถาวรกล่าว

ด้านนายปัญญา โคตรเพชร เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านต้องตกอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายแร่ที่ถูกร่างขึ้นโดยนายทุนผู้ประกอบการผ่านการเอื้อประโยชน์โดยรัฐ ซึ่งชาวบ้านทำได้เพียงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการต่อสู้ หากชาวบ้านมีโอกาสรับรู้และมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายแร่ซึ่งเกิดจากตัวประชาชนเอง ย่อมจะทำให้สิทธิในการต่อสู้กับทุนที่จะรุกรานทรัพยากรท้องถิ่น มีความเท่าเทียมมากขึ้น

นายปัญญา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.แร่ ภาคประชาชนมี่กำลังผลักดันกันนี้จะเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้จากการรุกรานทรัพยากรท้องถิ่นของกลุ่มทุนได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นกฎหมายที่อ้างอิงจากสภาพจริงและความต้องการของชาวบ้านเอง ไม่ใช่ของภาครัฐและนายทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น