สุรินทร์ - ช้างน้อย “พลายร็อคกี้” เหยื่อรถชนสาหัส เข้ารักษาอยู่ที่ รพ.ช้างสุรินทร์ เป็นวันที่ 10 ล่าสุด ตอบสนองการรักษาอาการดีมากขึ้นตามลำดับ สามารถขยับสะบัดใบหูได้ และบาดแผลเริ่มแห้ง สร้างความดีใจให้กับทีมสัตวแพทย์ จาก 3 สถาบันที่ร่วมกันระดมกำลังช่วยรักษาเป็นอย่างมาก เผย ต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป
วันนี้ (14 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการรักษาช้างน้อยพลายร็อคกี้ อายุ 2 ปี น้ำหนักประมาณ 450 กิโลกรัม ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุถูกรถยนต์เก๋งชน ขาหน้าหักทั้ง 2 ข้าง สมองได้รับการกระทบกระเทือน เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา และถูกนำตัวส่งมารักษาตัวที่ สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ จังหวัดสุรินทร์ หรือโรงพยาบาลช้างสุรินทร์เป็นวันที่ 10 ซึ่งทีมสัตวแพทย์โครงการสัตวแพทย์พระราชทาน ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทีมสัตวแพทย์ ประจำโรงพยาบาลช้างสุรินทร์ ได้ทำการรักษาและเข้าเฝือกไฟเบอร์กลาส ขาช้างคู่หน้าที่กระดูกหักทั้ง 2 ข้างไปแล้ว นั้น
ล่าสุด วันนี้ คณะอาจารย์และนักศึกษาคณะสัตวแพทย์ ชั้นปีที่ 6 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และเจ้าหน้าที่สำนักปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้เดินทางมาสบทบ เพื่อช่วยในการรักษาช้างน้อยพลายร็อคกี้ ดังกล่าว
โดยในวันนี้ ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการพลิกตัวช้างที่นอนทับด้านซ้ายและด้านขวาสลับกันไป-มา เพื่อคลายกล้ามเนื้อที่นอนกดทับเป็นเวลานาน พร้อมทั้งทำการล้างและใส่ยาบริเวณบาดแผล ถลอกตามลำตัว ซึ่งพบว่าบาดแผลเริ่มแห้งไม่ขยายพื้นที่ออกไป พร้อมทั้งให้ยาหยอดตา เป็นการล้างตา หลังจาการนอนกดทับเป็นเวลานานๆ
ทั้งสิ่งที่สัตวแพทย์ได้พบพัฒนาการ และผลการรักษาที่บงชี้ว่าผลการรักษาดีขึ้นตามลำดับ นอกจากช้างมีอาการบวมที่บริเวณส่วนหัวลดลง ขาหลังขยับได้ ลืมตา ม่านตาตอบสนองมากขึ้น และช้างส่งเสียงร้องได้แล้ว สิ่งที่ทีมสัตวแพทย์ดีใจมาก คือ ใบหูทั้งข้างขวาของช้าง สามารถขยับ และสะบัดใบหูไปมาได้ ซึ่งเป็นการยืนยันชัดเจนว่า ช้างมีการตอบสนองต่อการรักษาดีมากขึ้นตามลำดับ
สัตวแพทย์หญิง ภัทร เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ อาการบาดเจ็บและผลการรักษาช้างพลายร็อคกี้ มีการตอบสนองการรักษาดีขึ้นตามลำดับ ช้างสามารถขยับใบหูได้ สร้างความดีใจแก่ทีมสัตวแพทย์ เป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ช้างสามารถปัสสาวะเองได้ ม่านตาตอบสนองการรักษาดีขึ้น ตาตอบสนองกับภาพที่เห็น ลิ้นตอบสนองดีขึ้น ส่วนการรักษายังให้ยาลดการอักเสบ ยาลดปวด ยาปฏิชีวนะ สารน้ำ เข้าทางเส้นเลือด และมีการกระตุ้นให้ช้างกินอาหารและน้ำ ซึ่งต้องเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป