xs
xsm
sm
md
lg

ช้างน้อย “พลายร็อคกี้” ตอบสนองการรักษาดีขึ้น - หัวบวมเริ่มลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ช้างน้อย “พลายร็อคกี้” อายุ 2 ปี ถูกรถชนบาดเจ็บสาหัส ขาหน้าหัก 2 ข้าง และ หัวได้รับกระทบกระเทือน เข้ารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลช้างสุรินทร์ ตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้น วันนี้ ( 13 ธ.ค.)
สุรินทร์ - สัตวแพทย์เผย อาการช้างน้อย “พลายร็อคกี้” ตอบสนองการรักษา ม่านตา-ลิ้น มีการตอบสนองดีขึ้น ปัสสาวะได้ และอาการบวมที่หัวเริ่มลดลง ให้สารอาหารทางเส้นเลือด แต่ที่น่าเป็นหวง คือ ช้างยังกินอาหารเองไม่ได้ ขณะประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจช้างน้อยอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (13 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าอาการบาดเจ็บของช้างน้อย “ พลายร็อคกี้” อายุ 2 ปี น้ำหนัก 550 กิโลกรัม หลังจากถูกรถยนต์เก๋งชน ที่ จ.ร้อยเอ็ด ได้รับบาดเจ็บสาหัสกระดูกขาหน้า หักทั้ง 2 ข้าง สมองได้รับการกระทบกระเทือน และถูกนำตัวส่งมารักษาตัวอยู่ที่ สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์ หรือโรงพยาบาลช้างสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นวันที่ 9 และที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์โครงการสัตวแพทย์พระราชทาน ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทีมสัตวแพทย์ สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์ ได้ทำการเข้าเฝือกไฟเบอร์กลาส ขาคู่หน้าที่หักทั้ง 2 ข้างไปแล้ว นั้น

ล่าสุด วันนี้ เวลา 11.00 น.สัตวแพทย์หญิง ภัทร เจริญพพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของอาการช้างพลายร็อคกี้ ว่า เมื่อวันที่ 11-12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ช้างได้พักตัวด้วยการนอนนิ่งๆ โดยมีสัตวแพทย์คอยสังเกตอาการตามตารางสังเกตการณ์และให้ยาลดการอักเสบ ยาลดปวด ยาปฏิชีวนะ น้ำตาลกลูโคส สารน้ำเข้าทางเส้นเลือด และอาการในวันนี้ช้างสามารถปัสสาวะได้ ส่วนการทำงานของงวงนั้นยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ และยังไม่มีความอยากกินอาหารและน้ำ ม่านตามีการตอบสนองดีขึ้น ตามีการตอบสนองกับภาพที่เห็น มีปฏิกิริยาตอบสนองของลิ้นมากขึ้น เมื่อเทียบจากเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับแนวทางการรักษา เนื้อเยื่อรอบบริเวณที่ได้รับแรงกระแทกยังมีการบาดเจ็บ กระดูกขาหน้าหักทั้ง 2 ข้าง จะต้องให้สารน้ำ ยาระงับอาการปวด ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุง การทำแผล ใช้สิ่งปูรองพื้นลดการเกิดแผลกดทับ การเข้าเฝือกไฟเบอร์กลาส เพื่อยึดประคองกระดูกที่หักในขณะทำการช่วยประคองให้ตั้งตัวหรือลุกยืน ถ้าสามารถทำได้เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการนอน และเพื่อกระตุ้นให้สัตว์กินอาหารและน้ำได้ และจะใช้เครื่องพยุงเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อช้างมีร่างกายพร้อมที่จะยืน หากช้างยังไม่พร้อมที่จะยืนจะทำการพลิกตัว และเอาลงนอนตะแคงสลับข้างตามความเหมาะสมต่อไป

“ในวันนี้ ได้ทำการตรวจที่บริเวณส่วนหัวของช้างที่ได้รับแรงกระทบกระเทือน ด้วยการทำรังสีวินิจฉัย เพื่อตรวจการบวมของส่วนหัวช้าง ซึ่งช่วงนี้ อาการบวม ได้ลดลงไปมากแล้ว”สัตวแพทย์หญิง ภัทร กล่าว

ส่วนการพยากรณ์โรค ในสภาพปัจจุบันแย่อาจถึงชีวิต แต่อาการจะดีขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของตัวสัตว์เอง นอกจากนี้แล้ว สัตวแพทย์ยังพบว่าอาการบวมที่บริเวณศีรษะเริ่มลดลงแล้ว แต่สิ่งที่เป็นห่วงที่สุด คือ ช้างยังไม่สามารถกินอาหารได้ ก็อาจจะส่งผลต่อการซ่อมแซมและรักษาอาการบาดเจ็บต่างๆ ของร่างกายได้ที่อาจจะเป็นไปอย่างล่าช้าง ซึ่งสัตวแพทย์ได้ให้สารอาหารและวิตามินต่างๆ ทางเส้นเลือดชดเชยแทนแล้ว

ขณะที่ประชาชนที่ทราบข่าวได้เดินทางไปเยี่ยมช้างพลายร็อคกี้ เพื่อให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำผ้าห่มมามอบให้ควาญช้างให้ใช้ห่มให้ช้างพลายร็อคกี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในขณะนี้ ขณะที่สัตวแพทย์ขอความร่วมมือประชาชนที่จะเข้าไปเยี่ยมให้ดูอยู่ห่างๆ เพราะช้างยังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอเกรงช้างจะติดเชื้อได้ง่าย และจะเป็นปัญหาต่อการรักษา




สัตวแพทย์หญิงภัทร  เจริญพพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น