xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ฟันธง-5 อำเภอพิจิตรทุจริตซื้อยาฆ่าเพลี้ย พบแพงเกินจริง-แถมซื้อไกลถึงปากน้ำโพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - เมืองชาละวันดินแดนโคตรโกงเจอ สตง.ไล่บี้ พบหลักฐานชัดเจนทุจริตเงินภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจัดซื้อสารเคมีนอกพื้นที่แพงแจกชาวนา ทั้งที่ในพิจิตรก็มีขายแถมราคาถูก กลับไม่ยอมซื้อ เป็นต้นเหตุทำนาข้าวย่อยยับ 5 อำเภอ 4 พันไร่ เสียหายเกือบ 3 พันล้านบาท แถมรัฐบาลต้องควักเงินภาษีอีก 191 ล้าน จ่ายชดเชย

รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตร แจ้งว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 11 จังหวัดนครสวรรค์ ได้มีหนังสือที่ ตผ 0040 นว/67 ถึงนายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เรื่องการจัดซื้อสารเคมีกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตามประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในจังหวัดพิจิตร ซึ่งจังหวัดฯได้ลงเลขรับที่ 171 วันที่ 23 ก.ย.54

หนังสือ สตง.ระบุว่า ตามที่มีผู้ร้องเรียนและชี้เบาะแสว่า มีการทุจริตจัดซื้อสารเคมีกำจัดเพลี้ยฯนั้น สตง.ได้เข้าตรวจสอบกรณีการใช้จ่ายเงินทดรองราชการที่จัดซื้อสารเคมี เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวนาที่ปลูกข้าวและประสบภัยพิบัติฉุกเฉินจากการระบาดของแมลงศัตรูพืชเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 ในพื้นที่ทำนา 5 อำเภอพื้นที่นาเกือบ 4 แสนไร่ ที่เสียหาย ได้แก่ วังทรายพูน บางมูลนาก สากเหล็ก โพทะเล และวชิรบารมี

โดยนายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ ได้มีประกาศให้ 5 อำเภอดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินที่ต้องให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็นกรณีเร่งด่วน จากนั้นได้อนุมัติเงินจำนวน 10 ล้านบาท ให้ที่ทำการปกครองอำเภอ ไปดำเนินการจัดซื้อสารเคมีช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง

และในครานั้นมีอดีตข้าราชการในสำนักงานเกษตรจังหวัด ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนจนตกเป็นข่าวฉาวว่า วิธีการดำเนินการดังกล่าวมีการทุจริตเกิดขึ้น สตง.จึงเข้าตรวจสอบเพราะเป็นอำนาจอยู่ในการอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในการดำเนินการพบว่า เจ้าหน้าที่พัสดุของแต่ละอำเภอ ได้ทำบันทึกขออนุมัติจัดซื้อสารเคมีชื่อสามัญพีโนบูคาร์บ ชื่อทางการค้า ยาฆ่าเพลี้ยกระโดด (ชนิดน๊อก) ชื่อ ไอ-ขาบ จากนายศักดิ์เพชร ศรีนาราง เจ้าของร้านค้าเก้าการเกษตร เลขที่ 440 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองตางู อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ อัตราและราคา ลิตรละ 380 บาทเท่ากันทุกอำเภอ และได้ดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคา ซึ่งผู้มีอำนาจในการอนุมัติ คือ นายอำเภอ ที่ได้อนุมัติเห็นชอบในการจัดซื้อตามที่เสนอและได้มีการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ขายเสร็จสิ้นแล้วเป็นจำนวนเงิน 9,815,620 บาท จัดซื้อสารเคมียี่ห้อ ไอ-ขาบ ลิตรละ 380 บาท จำนวน 25,831 ลิตร

โดยอำเภอวังทรายพูนซื้อ 5,597 ลิตร เป็นเงิน 2,126,860 บาท ,อำเภอบางมูลนากซื้อ 8,001 ลิตร เป็นเงิน 3,040,380 บาท, อำเภอสากเหล็กซื้อ 2,600 ลิตร เป็นเงิน 988,000 บาท ,อำเภอโพทะเลซื้อ 7,002 ลิตร เป็นเงิน 2,660,600 บาท ,อำเภอวชิรบารมีซื้อ 2,631 ลิตร เป็นเงิน 999,780 บาท

ซึ่งผู้ร้องเรียนและชี้เบาะแสการทุจริตให้ข้อมูลกับ สตง.ที่เป็นประโยชน์ว่า สินค้าดังกล่าวขณะช่วงเกิดภัยพิบัติในจังหวัดพิจิตรร้านขายสินค้าการเกษตรมีขายมากมาย และมีราคาขายปลีกเพียงแค่ลิตรละ 160 บาท แต่ถ้าซื้อหลายหมื่นลิตรเช่นนี้ ก็อาจสามารถต่อรองราคาได้ของถูกกว่านี้อีก

หมายความว่า การที่ทางราชการซื้อนั้นได้ของแพงกว่าปกติถึงลิตรละ 120 บาท หรือแพงกว่าเกือบ 100 %

ด้านเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่จัดหาเจรจาต่อรองและตกลงราคา กลับให้ถ้อยคำว่า ได้ทำการติดต่อร้านค้าในจังหวัดพิจิตรแล้วแต่ไม่มีตัวแทนร้านค้าในเขตจังหวัดพิจิตรมาเสนอราคาหรือร้านค้าในเขตจังหวัดพิจิตรไม่มีสารเคมีจัดส่งให้ทางราชการตามจำนวนมากที่ราชการต้องการซื้อ จึงต้องวิ่งข้ามเขตไปซื้อถึงนครสวรรค์ในราคาลิตรละ 380 บาท เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนไม่มีเวลาสอบราคา จึงได้ยึดเอาราคาของที่ทำการปกครองอำเภอที่ได้จัดซื้อไปก่อนแล้วเป็นหลัก และหรือได้ยึดถือเอาราคาลิตรละ 380 บาท ตามมติของที่ประชุม ก.ข.ภ.อ. และที่ตกลงซื้อจากร้านค้าของนายศักดิ์เพชร ศรีนาราง เจ้าของร้านค้าเก้าการเกษตร เลขที่ 440 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองตางู อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เพราะเห็นว่าเสนอตัวยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง

แต่จากคำพูดดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของ5 อำเภอที่เกี่ยวข้อง สตง. ไม่เชื่อ จึงได้ลงพื้นที่เผชิญสืบ สอบถ้อยคำของผู้มีอาชีพค้าขายสารเคมีในท้องที่จังหวัดพิจิตรจำนวนหลายร้านค้าต่างได้ให้ถ้อยคำพ้องต้องกันว่า สารเคมีกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลชื่อสามัญพีโนบูคาร์บ หรือ ไอ-ขาบ มีขายในร้านค้าในท้องที่จังหวัดพิจิตรอย่างมากมาย และมีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งขายปลีกขายย่อยหน้าร้านเพียงแค่ลิตรละ 160 -250 บาท และหากมีผู้ซื้อต้องการซื้อในจำนวนมากๆเป็นหมื่นลิตรก็ยังสามารถลงราคาได้อีก พร้อมกับเปิดบิลโชว์สต็อกสินค้า ยืนยันว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 มีสินค้าในสต๊อกจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการให้ไปเสนอราคาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า หน่วยงานที่ทำการปกครองของทั้ง 5 อำเภอที่ได้จัดซื้อสารเคมีดังกล่าวมาจากร้านค้าในท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ ทั้งสิ้นจำนวน 25,831 ลิตรๆละ 380 บาท เป็นเงิน 9,815,620 บาท เป็นการจัดซื้อที่มีราคาสุงกว่าราคาตลาดของท้องถิ่นที่ ที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น กล่าวคือในช่วงมีภัยพิบัติสินค้าในร้านขายเคมีการเกษตรจำหน่ายในช่วงเวลาที่เกิดมีภัยพิบัติในขณะนั้นราคาสูงสุดอยู่ที่ลิตรละ 250 บาทเท่านั้น

หากหน่วยงานที่ทำการปกครองของ 5 อำเภอ มีความบริสุทธิ์ในเจตนาจะจัดซื้อจากร้านค้าในพิจิตรตามจำนวนดังกล่าวก็น่าจะใช้เงินเพียงแค่ 6,457,750 บาท แต่กลับไปซื้อสินค้าถึงจังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ได้ของแพงไปกว่าปกติถึง 3,357,870 บาท ซึ่งการจัดซื้อในราคาสูงกว่าท้องตลาดดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม นัยในระเบียบกระทรวงการคลัง พ.ศ.2546 ข้อ 40 อีกทั้งวิสัยและพฤติการณ์โดยทั่วไปของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ต่อรองและตกลงราคา จักต้องพึงปฏิบัติ แต่การไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ต้องจัดซื้อสารเคมีในราคาสูงกว่าท้องตลาด จึงทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียเงินไปกับการซื้อของแพงหรือเสียค่าโง่ที่ส่อเค้าไปในทางทุจริตเป็นเงิน 3,357,870 บาท

สตง.เห็นสมควรให้นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ดำเนินการหาตัวให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบนำเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งค่าสินไหมทดแทนส่งคืนให้กับทางราชการให้ครบถ้วนและให้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดังกล่าวตามสมควรแก่กรณี

ทั้งนี้ กรณีเกิดภัยพิบัติเพลี้ยกระโดดทำลายนาข้าว 5 อำเภอของชาวนาพิจิตรเกือบ 4 แสนไร่ อดีตเกษตรจังหวัด ซึ่งขณะนี้ลาออกจากราชการไปแล้วเคยทักท้วงทั้งในที่ประชุมและผ่านสื่อมวลชนว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการซื้อของแพง อีกทั้งเสนอตัวยาสารเคมีไปถึง 9 ชนิด แต่ทางฝ่ายปกครองกลับไม่ซื้อสารเคมีตามคำแนะนำทั้ง 9 ชนิด เสร็จแล้วไปซื้อสารเคมีแจกชาวนาเพียงแค่รายละ 2 ลิตร

สุดท้ายนาข้าวเกือบ 4 แสนไร่ ที่ถ้าได้เก็บเกี่ยวขายในช่วงปี 2552 ขายได้ตันละ 7-8 พันบาท ชาวนาก็จะได้เม็ดเงินเกือบ 3 พันล้านบาท แต่การทุจริตครั้งนี้ทำให้นาข้าวไม่ได้เก็บเกี่ยว สุดท้ายรัฐบาลในยุคที่นายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องนำเงินภาษีของราษฎรจำนวน 191 ล้านบาท มาจ่ายชดเชยให้กับชาวนาพิจิตร ที่ประสบภัย




กำลังโหลดความคิดเห็น