ศูนย์ข่าวศรีราชา - อำเภอศรีราชา ให้ความสนใจโครงการเพาะปลูกต้นละหุ่งไต้หวัน ผลิตน้ำมันเพื่อประหยัดพลังงาน
นายวิชัย สัมพันธรัตน์ นายอำเภอศรีราชา เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางอำเภอศรีราชาได้ให้การต้อนรับนักลงทุนจากไต้หวัน เพื่อมาเจราร่วมโครงการ เพาะปลูกต้นละหุ่งจากไต้หวันกับทางเกษตรกรในอำเภอศรีราชา โดยจะมาทดลองปลูกละหุ่งในเขตพื้นที่อำเภอศรีราชา โดยจะนำน้ำมันละหุ่งไปผลิตน้ำมัน เพื่อประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะเป็นพิษ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยหวังว่าจะทำให้อุณหภูมิของโลกลดลง (ภาวะโลกร้อน)
โดยการดำเนินการในครั้งนี้เพื่อต้องการผลละหุ่งมาผลิตน้ำมัน เนื่องจากพื้นที่ประเทศไทย โดยเฉพาะเขตพื้นที่ศรีราชา มีลักษณะทางภูมิอากาศที่เหมาะสม ดังนั้น ทางนักลงทุนไต้หวัน จึงมาลงทุนครั้งแรกให้ทั้งหมด โดยเพียงให้เกษตรกรคนไทยหาพื้นที่เพื่อเพาะปลูกต้นละหุ่ง ซึ่งในเบื้องต้นจะใช้เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ บริเวณเขาคันทรง โดยให้เกษตรกรบริเวณดังกล่าว ร่วมมือ เพื่อเป็นพื้นที่สาธิต
นายวิชัยกล่าวต่อว่า ในช่วงแรกเกษตรกรคนไทย ยังไม่มั่นใจในผลผลิตและผลประโยชน์ที่จะได้รับโดยในช่วง 4 เดือนแรก จะเป็นการลงทุนของกลุ่มประเทศไต้หวันทั้งหมด และหลังจากนั้นหากผลผลิตเป็นไปตามที่ต้องการ เกษตรกรคนไทยก็จะดำเนินการทั้งหมดต่อไป ซึ่งเพื่อความมั่นใจในช่วงแรก จึงมอบภาระทั้งหมดให้ทางกลุ่มประเทศไต้หวัน
ในเบื้องต้นทางไต้หวันได้รับเงื่อนไขไปแล้ว และหากจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม จะต้องมีการเซ็น MOU เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้ง 2 ฝ่าย เช่น ผลผลิตที่ได้รับ ทางกลุ่มประเทศไต้หวันจะต้องรับซื้อทั้งหมดในราคาที่กำหนดไว้, วัตถุดิบ เช่น เมล็ดพันธุ์ จะต้องมอบให้เกษตรกร ทำไปเพาะปลูกฟรี ในอัตราส่วน 2 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนั้นทางกลุ่มประเทศไต้หวัน จะต้องช่วยดูแลการเจริญเติบโตด้วย
ด้าน นายมะลิ กลั่นด้วง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาคันทรง กล่าวว่า ในช่วงแรกที่มีการเจรจากัน ทางกลุ่มประเทศไต้หวันเป็นการเอาเปรียบเกษตรกรไทย โดยให้เมล็ดพันธุ์อย่างเดียว
ส่วนค่าปุ๋ย, ค่าน้ำ, ค่าดูแล เกษตรกรไทยเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด ซึ่งหากผลผลิตออกมาไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ทางกลุ่มประเทศไต้หวันก็ไม่รับซื้อ ทางเกษตรกรไทยก็จะได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน ทำให้ไม่มั่นใจในโครงการนี้
แต่หลังจากมีการเจรจากันอีกรอบกันอีกรอบ ทางกลุ่มประเทศไต้หวันตกที่จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด จนครบ 4 เดือนที่ผลผลิตออกมาครั้งแรก ซึ่งในช่วงนั้นจะต้องมาดูที่ผลผลิตว่าเป็นอย่างไร และเป็นไปตามความต้องการหรือไม่อย่างไร หากประสบผลสำเร็จก็ดำเนินการต่อ แต่หากไม่ประสบผลสำเร็จก็ต้องยกเลิกโครงการนี้ทันที
นายมะลิกล่าวต่อไปว่า หลังจาก 4 เดือนหากประสบผลสำเร็จก็พร้อมขยายพื้นที่ต่อไปตามเป้าหมายของกลุ่มประเทศไต้หวัน คือ 100 ไร่ จากนั้นก็จะตั้งโรงงานแปรรูปน้ำมันละหุ่งในเมืองไทยทันที ซึ่งในช่วงนั้นจะต้องมีการเซ็นสัญญาหรือเซ็น MOU ที่ละเอียดและเข้มงวดขึ้นอีกครั้ง เพราะในช่วงแรกเกษตรกรไม่มีความมั่นใจในโครงการนี้ เพราะหวั่นเหมือนโครงการอื่นๆที่ชาวต่างประเทศมาให้คนไทยทำ จากนั้นก็ทิ้งโครงการกลับประเทศ ปล่อยความเสียหายไว้กับคนไทย