ตราด - อบต.สะตอ ร่วมชลประทานตราด สำรวจฝายตาพลายที่เสียหายจากเหตุน้ำท่วม พบพื้นฝาย ประตูชำรุด ซ่อมไม่ได้ต้องสร้างใหม่ นายกฯแก้เฉพาะหน้าใช้เสาเข็มถุงทรายช่วย
วันนี้ (23 พ.ย.) นายปราโมทย์ จันทร์กระจ่าง นายก อบต.สะตอ พร้อมกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต.สะตอ จ.ตราด ร่วมเดินทางไปสำรวจความเสียหายของฝายน้ำล้นบ้านตาพลาย หลังพบว่า พื้นคอนกรีตฝายและประตูน้ำเสียหาย ซึ่งส่งผลต่อการเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในหน้าแล้ง
ต่อมา นายธเนศ ปลื้มคิด ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานจังหวัดตราด ได้เดินทางมาสำรวจฝายน้ำล้นและได้สอบถามปัญหาจากนายก อบต.สะตอ และกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต.สะตอ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการรั่วของน้ำเหนือฝายน้ำล้นตาพลาย
นายธเนศ กล่าวว่า สภาพฝายน้ำล้นขณะนี้พื้นคอนกรีตพังเกือบทั้งหมด เนื่องจากดินใต้ฝายถูกน้ำแทงทะลุจนเป็นโพงใต้ฝาย และทำให้น้ำเหนือฝายทะลุออกมาจากใต้ฝาย ส่วนประตูน้ำ 2 บานก็ไม่สามารถกักน้ำได้ และมีน้ำไหลตลอดเวลา การแก้ปัญหาหรือซ่อมแซมคงไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องทุบทิ้ง และตั้งงบประมาณก่อสร้างใหม่ โดยจะเสนอเข้าเป็นโครงการของจังหวัดในปีงบประมาณ 2556 เนื่องจากงบปี 2555 ได้ผ่านไปแล้ว ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทาง อบต.ต.สะตอ จะเป็นผู้รับผิดชอบในเบื้องต้น
นายปราโมทย์ กล่าวว่า สภาพของฝายน้ำล้นตาพลายเคยชำรุดมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ อบต.สะตอ ไม่มีงบประมาณในการแก้ไขเนื่องจากเกินกำลังของงบประมาณ จึงได้ประสานกับชลประทานจังหวัดตราดให้มาแก้ปัญหา ซึ่งก็ได้รับแจ้งว่า ไม่สามารถซ่อมแซมได้ต้องตั้งงบก่อสร้างใหม่ ซึ่ง อบต.สะตอ จะใช้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน โดยจะใช้เสาเข็ม และกระสอบทรายมาปิดกั้นด้านหน้าฝายเพื่อปิดช่องชำรุดในเบื้องต้นก่อน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง
“ฝายน้ำล้นตาพลาย เป็นหัวใจของการทำการเกษตรของ ต.สะตอ หากฝายตาพลายแห่งนี้ยังชำรุดอยู่เช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อต้นผลไม้ของชาวสวนเนื่องจากระยะนี้ต้นไม้ต้องใช้น้ำเพื่อออกดอกด้วย”
ขณะที่ นายสามารถ ถีระวงษ์ เกษตรกร และกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต.สะตอ กล่าวว่า ฝายตาพลายเสียหายและชำรุดได้ส่งผลต่อจำนวนน้ำที่จะหายไป เพราะทุกวันนี้ เวลาหน้าแล้ง ฝายตาพลายจะเก็บน้ำไว้ได้มากพอสมควร และทดน้ำลงสู่คลองสาขายาวถึง 4-5 กิโลเมตรขณะเดียวกันช่วงหน้าฝน ก็ป้องกันน้ำท่วมได้ด้วยการชะลอน้ำไว้
แต่ปีนี้เกิดน้ำท่วมหนักทำให้ฝายน้ำล้นชำรุดเสียหายอย่างหนัก หากไม่มีการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เกษตรกรทั้งเหนือฝายและใต้ฝายจะได้รับผลกระทบสูง และถ้าฝายตาพลายไม่มีน้ำจนถึงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2555 เกษตรกรชาวสวนผลไม้จะได้รับความเสียหายมาก