นครปฐม - มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เปิดศูนย์พักพิงให้ผู้ประสบภัยด้วยการบริการจัดการอย่างมีระบบ สร้างขวัญเติมกำลังใจจัดกิจกรรมสร้างสัมผัสแห่งกำลังใจให้ผู้พักพิง พร้อมบริหารจัดการอย่างมีระบบ
แม้สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะยังผลให้ผู้คนนับหมื่นนับแสนคนจะต้องกลับกลายเป็นผู้อพยพและต้องทิ้งบ้านเรือนถิ่นฐานหรือแยกจากกับคนในครอบครัว และมีความเดือดร้อนอีกหลายล้านชีวิต นับจนถึงวันนี้กว่าหลายเดือน ไม่กี่วันที่น้ำเหนือได้ไหลลงสู่ที่ต่ำ เพื่อเดินทางไปยังท้องทะเล แต่เพียงทางผ่านนั้นได้ฝากรอบแผลอันเจ็บปวดไว้ให้กับหลายชีวิตไม่ว่าคน สัตว์ หรือแม้แต่พืช ล้วนได้รับผลกระทบที่บอบช้ำไม่ต่างกัน และการจัดตั้งศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงให้กับผู้ไร้ที่อยู่นั้นเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนและต้องมีความรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นหนึ่งแห่งที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่ในการเปิดเป็นที่พึ่งของพี่น้องคนไทยด้วยกัน
นางนงรัตน์ โสมขันเงิน รักษาการผู้อำนวยการกองงานวิทยาเขต ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับแจ้งด่วนให้เปิดเป็นสถานที่พักพิงของผู้อพยพที่ประสบกับอุทกภัยเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นเราได้มีการเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อวางแนวทางในการรองรับผู้อพยพ ซึ่งให้โรงยิมเนเซี่ยมที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จอยู่ในการตกแต่งส่วนต่างๆ ซึ่งมีความเหมาะสมและได้ประเมินสถานการณ์และพื้นที่ว่าเราสามารถรองรับประชาชนได้กว่า 400 คนและจอดรถได้ 100 คัน
จากนั้นวันที่ 31 ตุลาคม เราได้รับแจ้งให้มีการรับผู้อพยพ 100 คน จากพุทธมณฑล ซึ่งกำลังมีระดับน้ำขึ้นสูงและจุดพักพิงในสถานที่ดังกล่าวไม่สามารถจะอยู่ได้ต่อไป ทางมหาวิทยาลัยได้จัดรถโดยสารเดินทางไปรับผู้อพยพในสถานที่ที่เริ่มวิกฤตทันที โดยได้เร่งดำเนินการเปิดการประชาสัมพันธ์ในการรับผู้อพยพผ่าน http://www.flood.su.ac.th ทันที เพื่อให้ผู้ที่จะหาแหล่งพักพิงได้ติดต่อเข้ามาตรวจสอบได้ง่าย
จากนั้นได้มีประชาชนในจังหวัดนครปฐม ได้เดินทางเข้ามาขออาศัยมากขึ้นกระทั่งมีผู้อพยพกว่า 273 คน ทางมหาวิทยาลัยได้มีการดำเนินการจัดสรรงบประมาณในการหาที่นอน ผ้าห่ม รวมถึงระดมกำลังในการจัดการเกี่ยวกับอาหารให้ผู้อพยพหลายร้อยคน ทุกวันๆ ละ 3 มื้อให้เพียงพอ โดยได้รับสนับสนุนเงินจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และมีผู้มีจิศรัทธาได้เดินทางของบริจาคเข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่อง และนับถึงวันนี้เหลือผู้อพยพ จำนวน 256 คน
โดยทางมหาวิทยาลัยได้จัดห้องน้ำ แบ่งสัดส่วนต่างๆ ให้ชัดเจน โดยมีเจ้าหน้าที่และนักศึกษาที่ยังปิดเทอมกว่า 30 ชีวิต ในการมองนอนเฝ้าเวรยามอำนวยความสะดวกให้กับผู้อพยพตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนในภาคกลางวันจะมีเวลารับประทานอาหารที่ชัดเจน รวมถึงจากนั้นในช่วงสายและบ่ายของทุกวันก็จะมีกิจกรรมให้ผู้อพยพได้ทำในการเสริมอาชีพและทำกิจกรรมบรรเทาความเครียด ทั้งการจัดกิจกรรมงานการอาชีพ การเต้นแอร์โรบิก
ส่วนในช่วงเย็นของทุกวันเวลา 18.30 น.จะมีพระสงฆ์จากวัดพระปฐมเจดีย์มาบรรยายธรรมให้กับผู้ที่ต้องการฟังธรรมและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ส่วนเด็กๆ จะมีห้องสำหรับเป็นห้องเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน โดยทุกวันจันทร์และพฤหัสบดีจะมีแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์นครปฐมมาตรวจสุขภาพให้เป็นประจำโดยศูนย์พักพิงจะปิดไม่ให้บุคคลทั้งภายในและภายนอกเข้าออกในวัน 22.00 น.เพื่อความปลอดภัย และกิจกรรมต่างที่จะนำมาให้ผู้พักพิงได้ทำนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนไปทุกวันโดยจะมีตารางวาแจ้งอย่างชัดเจนเป็นรายสัปดาห์หากใครสนใจสามารถร่วมกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยฯได้พยายามสร้างกิจกรรมเพื่อให้คลายทุกข์ของผู้ประสบภัยไปให้ได้ในระยะของการตั้งสติจากภัยครั้งนี้
ทั้งนี้ การช่วยเหลือประชาชนวันหนึ่งจะต้องใช้ข้าวสารและอาหารสดมาประกอบอาหาร โดยมีกลุ่มแม่ค้าที่เป็นกลุ่มจิตอาสามาช่วยกันปรุงอาหารให้ทุกมื้อและปัญหาที่จะพบในอนาคตก็จะมีบ้างคือในวันที่ 28 พ.ย.จะมีการเปิดเทอม นักศึกษา เจ้าหน้าที่ รวมถึงแม่ค่ากลุ่มจิตอาสาก็จะต้องกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง แต่เราก็ได้มีการวางแผนรองรับปรับให้เข้ากับสถานการณ์แล้ว โดยของบริจาคที่ได้รับมาเป็นถึงยังชีพเราได้นำมาแกะออกและแยกนำไปประกอบอาหารแบบวันต่อวันร่วมกับของสดที่ได้รับบริจาค ซึ่งขณะนี้วันหนึ่งจะต้องมีรายจ่ายประมาณ 3 หมื่นบาทเศษ
ส่วนผู้ที่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาได้มีการนำของที่ได้รับแจก แบ่งกลับไปให้สำหรับตั้งหลักในยามกลับไปที่ถิ่นฐาน ซึ่งหลายที่ยังไม่สามารถหาซื้อข้าวปลาอาการได้อย่างสะดวกและยังได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาคณะต่างๆที่ได้จัดกิจกรรมมากมายอีกด้วย
โดย นางบุญนาค แจ่มประเสริฐ อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29 ม.8 ต.ทวีวัฒนา อ.ไทยน้อย จ.นนทบุรี บอกว่า ได้อพยพโดยลูกชายที่ทำงานอยู่ในพุทธมณฑล ขับรถหนีน้ำจากจากศูนย์พักพิงแห่งแรกที่พุทธมณฑล ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตนเองเกิดมาไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ โดยตอนนี้ลูกชายได้มาส่งและมาอยู่ด้วยไม่กี่วันก็ขอตัวไปช่วยแจกถุงยังชีพในพื้นที่พุทธมณฑล ซึ่งตนเองอยู่ที่นี่ก็สบายดีมีเพื่อนเพิ่มขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นี่รวมถึงนักศึกษาใจดีทุกคนอยู่แล้วอุ่นใจ แต่ก็ยังมีคิดถึงบ้านบ้างเป็นธรรมดา รวมถึงมีกิจกรราตลอดทั้งวันทำให้ไม่เบื่อ
ส่วน นางแก้ว คุณจวบ อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 91 ม.6 ต.ป่าหุ้ง อ.พาน จ.เชียงราย บอกว่า ตนเองมาช่วยลูกเลี้ยงหลานที่ อ.นครชัยศรี ได้อพยพมาที่นี่เพราะนายจ้างของลูกชายที่ทำสวยนกล้วยไม้พามาที่นี่ เพราะระดับน้ำที่บ้านพักสูงมาก ตอนนี้ป่วยเป็นโรคปวดหลังก็ได้รับการดูแลจากแพทย์ที่มาดูโดยให้ยากินทำให้อาการดีขึ้นเยอะมาก และยังไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ที่นานแค่ไหน แต่ก็ถือว่าไม่เหงาและสถานที่สะอาดมีเพื่อนผู้อพยพมาช่วยกันดูแลดี และยังได้ฟังเทศน์ทุกวันทำให้สบายใจมากขึ้น
แม้จำนวนผู้อพยพจะไม่มากแต่ด้วยการทำงานที่เป็นระบบทำให้ทุกวันนี้ผู้อพยพตั้งแต่เด็กอ่อนรวมถึงผู้สูงวัยต่างมีรอยยิ้มที่ซ่อนอยู่ในความทุกข์และการดูแลเข้าถึงความรู้สึกของมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่าแม้การทำงานของเจ้าหน้าที่จะเหน็ดเหนื่อยแต่เมื่อเห็นรอยยิ้มของผู้ที่มีความทุกข์อยู่ใจกลับทำให้พลังในการทำงานของเจ้าหน้าที่นั่นมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ทั้งนี้ ไม่เพียงศูนย์พักพิงเท่านั้นที่ได้ทำงานของตัวเอง ภาคคณะวิชาต่างๆ เช่นคณะเภสัชศาสตร์ได้เร่งผลิตยาแก้น้ำกัดเท้า กลุ่มศิลปากรลุกซึ่งเป็นกำลังจิตอาสาของนักศึกษาได้เร่งผลิต อีเอ็มบอล เพื่อส่งต่อถึงผืนน้ำที่เริ่มเน่าเหม็น และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เร่งผลิตสุขาลอยน้ำ เรียกว่าแทบทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยได้ถูกนำมาทำงานอย่างหนักเพื่อให้งานออกมาได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับผู้ที่มีจิตกุศลสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยในส่วนต่างๆ ยังขาดแคลน คือ เงินสด เนื่องจากของสดและแห่งที่นำมาปรุงอาหารนั้นเพียงพอและบางครั้งเกินความต้องการ แต่ยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ การประดิษย์สิ่งของต่างๆ มหาวิทยาลัยขอรับบริจาคเงินและสิ่งของ ติดต่อและสอบถามได้ที่ โทร.081-7349755, 034-255090, 034-255792, 034-253840-4 ต่อ 22222, 22050, 22051 ได้เพื่อต่อความหวังของพี่น้องคนไทยไปให้เดินหน้าและมีพลังต่อสู่อีกครั้งอีกด้วย