เพชรบุรี - หลายหน่วยงานลงพื้นที่เพชรบุรี เร่งฟื้นฟูสภาพหาดชะอำ หลังเกิดปรากฏการณ์น้ำเบียด ส่งผลให้สัตว์น้ำทะเลจำนวนมากทั้งปลาน้อยใหญ่ กุ้ง ปู ลอยเกยตื้นตายบริเวณชายหาดตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังเกิดฝนตกน้ำท่วมหนัก ทำให้จืดจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลทำให้สัตว์น้ำเกิดอาการช็อกน้ำ ขณะที่วันนี้ปลานับล้านตัวยังคงเกยตื้นเพิ่มมหาศาล แถมเริ่มส่งกลิ่นเหม็นเน่าแล้ว
หลังจากพื้นที่ชายหาดทะเลชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เกิดปรากฏการณ์น้ำเบียดส่งผลให้ปลาน้อยใหญ่ กุ้ง ปู และสัตว์น้ำทะเลจำนวนมากเกิดอาการช็อก หรือเมาน้ำ นับล้านตัวนั้นวันนี้ (14 ต.ค.) เป็นวันที่ 2 แล้ว ซึ่งสภาพน้ำมีสีแดงตลอดทั้งแนวชายหาด ประกอบกับปลาจำนวนมากยังคงเข้ามาเวียนว่ายจำนวนมากและมากกว่าเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา
โดยชาวบ้านจำนวนมากที่มีทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่ทราบข่าวว่ามีปลาเกยตื้นต่างเช่าเหมารถมาจับปลากันอย่างคึกคัก โดยชาวบ้านใช้อุปกรณ์ทั้งอวนลาก สวิง และแห ในการจับปลา โดยปลาที่ได้มีทั้งปลาฉลาม ปลาแดง ปลาจวด ปลาบู่ทะเล ปูม้า ปลาเห็ดโคน และปลาขนาดใหญ่อีกหลากหลายชนิด โดยชาวบ้านได้คัดเลือกเฉพาะปลาที่สามารถนำไปขายและรับประทานได้
ส่วนปลาที่รับประทานไม่ได้จำพวกปลาบู่ทะเล ปลาปักเป้า ปูหิน ฯลฯ ที่มีตัวขนาดเล็กก็จะถูกคัดทิ้งทำให้ตลอดแนวชายหาดมีแต่ซากปลาสร้างกลิ่นคาวคุ้งและเริ่มเน่าแล้วไปทั่วทั้งหาด โดยมีชาวบ้านบางรายที่เก็บไปหมักเพื่อทำเป็นปุ๋ย ส่วนปลาที่ขายได้ก็จะนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านไม่ต่ำกว่าวันละ 4,000-5,000 บาทต่อวันเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน ทางเทศบาลเมืองชะอำ จ.เพชรบุรี โดยนายนุกูล พรสมบูรณ์ศิริ นายกเทศมนตรีเมืองชะอำ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองชะอำ ลงพื้นที่ชายหาดเพื่อเร่งเก็บซากปลาที่กำลังเริ่มเน่าและเริ่มส่งกลิ่นเหม็นรวมถึงเก็บเศษสวะที่มาเกยตื้นตลอดแนวชายหาดเป็นจำนวนมาก เพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพภูมิทัศน์ด้านการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยวได้ทราบสถานการณ์น้ำและความปลอดภัยในการลงเล่นน้ำ เนื่องจากขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่โดนปลากระเบนและเงี่ยงปลาที่มีความแหลมทิ่มตามร่างกายได้รับบาดเจ็บแล้วจำนวนหลายราย
ด้าน นายปราโมทย์ สำเภาเงิน นายอำเภอชะอำ หลังลงพื้นที่ดูความเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำซึ่งพบว่าปลาน้อยใหญ่นับล้านตัวที่เกยตื้นนั้นน่าเสียดายและน่าสงสารเนื่องจากเป็นปลาและสัตว์ทะเลที่กำลังเติบโตแต่เมื่อเกิดภาวะธรรมชาติ หรือภาวะน้ำเบียด ที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูน้ำหลากก็จะพบความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลที่มีการเจือปนกับน้ำจืดมากเกินไปจนทำให้มีปลาเมาน้ำและเกยตื้นตาย แต่ในปีนี้หนักกว่าทุกปี และคาดว่าจะมากกว่า 5 วัน เนื่องจากปริมาณน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลในปีนี้ค่อนข้างที่จะมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่เกิน 5 วันทะเลชะอำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเนื่องจากธรรมชาติจะปรับสภาพด้วยตัวเอง
ส่วนการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจโดยกรมประมงจังหวัดเพชรบุรีนั้น ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณหาดชะอำ ที่ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ 3 จุดด้วยกัน คือ ชะอำเหนือ ชะอำกลาง และชะอำใต้ โดยน้ำที่เก็บเป็นน้ำที่อยู่ผิวน้ำและกลางน้ำ ซึ่งทำการส่งตรวจวิเคราะห์ยังศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งเพชรบุรีเพื่อหาค่าไนไตรท แอมโมเนีย พี-เอช อัลคาไลน์ และค่าความเค็มของน้ำ โดยผลที่ได้และน่าเป็นห่วงคือผลค่าความเค็มของน้ำทะเลลดลงมากเหลือระดับ 17-19 tpt เท่านั้น จากความเค็มของน้ำทะเลที่เดิมต้องอยู่ที่ค่าความเค็ม 30-35 tpt
ด้านนายชเนตร พุ่มทอง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งเพชรบุรี เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมประมงจังหวัดเพชรบุรี ได้ประสานขอให้ช่วยเหลือด้านการวิจัยน้ำทะเลบริเวณชายหาดชะอำนั้นผลออกมาแล้วปรากฏว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ค่าความเค็มของน้ำทะเลที่ลดลงอย่างมาก
ทั้งนี้ สาเหตุหลักมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.เกิดจากภาวะน้ำจืดลงสู่ทะเลมากเกินไป 2.เกิดการเน่าเสียของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก จำพวกแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งทำให้น้ำขาดออกซิเจนส่งผลให้ปลาและสัตว์ทะเลเมาน้ำและเกยตื้นตายในที่สุด และ 3.เกิดจากมีปุ๋ยทั้งจากภาคอุตสาหกรรม และภาพเกษตรกรรม ที่ปะปนไหลมากับน้ำจืดที่ท่วมขังในหลายพื้นที่แล้วลงสู่ทะเลซึ่งปุ๋ยเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบให้ปลาน้อยใหญ่ลอยได้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังเป็นห่วงชาวบ้านที่ไปเก็บปลามารับประทานเพราะไม่แน่ใจว่าปลาที่เก็บมารับประทานนั้นจะกินแพรงตอนที่มีอันตรายเข้าไปหรือเปล่าซึ่งชาวบ้านที่นำไปรับประทานขอให้ทำอาหารให้สุกก่อนที่จะรับประทานเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ โดยเฉพาะผู้ที่นำไปปลาไปทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ทั้งนี้จะต้องประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัดเพื่อให้ลงไปดูแลเรื่องความปลอดภัยในการนำปลามารับประทานอีกด้วย