น่าน - ชมรมกู้ชีพ-กู้ภัย จังหวัดน่าน รวมตัวขอความเห็นใจในการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากที่พยายามนำส่งผู้ป่วยให้ถึง รพ.อย่างเร่งด่วน และเชี่ยวชนกับรถยนต์ที่ไม่หยุดให้กับสัญญาณไซเรนรถกู้ภัย จนเป็นคดีฟ้องร้อง แต่หากขับรถช้า ก็ถูกญาติผู้ป่วยตำหนิ พร้อมยื่นหนังสือถึง สสจ.น่าน ขอแนวทางปฏิบัติงาน
วันนี้ (14 ต.ค.) ตัวแทนชมรมกู้ชีพ-กู้ภัย จังหวัดน่าน จากเขตอำเภอเมืองและอำเภอภูเพียง จำนวนกว่า 40 ราย นำโดย ส.อ.พินิจ ณ น่าน ประธานชมรมฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อขอความช่วยเหลือและแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ หลังถูกญาติผู้ป่วยต่อว่า ติดใจเอาความ และถูกรถประชาชนขับมาชน ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือนำส่งคนป่วย คนเจ็บส่งโรงพยาบาลจากอุบัติเหตุต่างๆ แต่รถกู้ชีพ กู้ภัย กลายเป็นฝ่ายผิด ถูกดำเนินคดี และชดใช้ค่าเสียหายเอง ขณะที่ค่าตอบแทนน้อยนิด และล่าช้า 3 เดือนจ่ายครั้ง
นายสุรชัย นิรันรัตน์ สมาชิกกู้ชีพ กู้ภัย เขตอำเภอเมืองน่าน กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บนั้นมีความสำคัญมาก ซึ่งหากช้าหรือผิดพลาดไปนั้นหมายถึงชีวิต จึงทำให้อาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัยทุกคนต้องแข่งกับเวลา แต่ทุกคนก็ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ อย่างเคร่งครัด
โดยรถกู้ชีพ กู้ภัยได้ขึ้นทะเบียนเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน ของสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดน่าน และเปิดสัญญาณไฟและสัญญาณเสียงไซเรนขณะออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ และผู้ประสบภัยในกรณีต่างๆ แต่บ่อยครั้งที่รถกู้ภัยต้องประสบกับอุบัติเหตุเสียเอง และกลายเป็นฝ่ายผิด เพราะขับรถฝ่าไฟแดง ถูกดำเนินคดี และชดใช้ค่าเสียหายเอง
ขณะที่บางครั้งนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งถึงโรงพยาบาลล่าช้า เพราะด้วยระยะทาง ก็ถูกญาติผู้ป่วยต่อว่า ติดใจเอาความถึงขั้นฟ้องร้องก็มี จึงต้องการให้ทางสาธารณสุขจังหวัดน่าน หรือสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดน่าน ช่วยเหลือและมอบแนวทางแก้ปัญหา
ขณะที่ นายเกียรติ คำเฟื่องฟู อายุ 45 ปี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทำงานเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย อบต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง มาได้ 3 ปี รถยนต์ที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นรถยนต์ส่วนตัว ค่าตอบแทนที่ได้ก็น้อยนิดวันละ 100บาท ได้รับ 3 เดือนครั้ง ทำงานตั้งแต่เวลา 18.00-08.00 น.ของอีกวัน แต่ทุกคนก็ทำด้วยใจจึงอยากให้เห็นใจอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัยบ้าง
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน ได้รับเรื่องและรับปากจะช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรณีรถกู้ชีพ กู้ภัยชนกับรถประชาชน และจะนำปัญหาต่างๆ เข้าประชุมกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือทั้งด้านค่าตอบแทนและแนวทางขณะออกปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะข้อบังคับการขับขี่รถกู้ชีพ-กู้ภัย รถฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ.จราจร 2552 ซึ่งให้สิทธิด้านการใช้สัญญาณไฟ สัญญาณเสียงไซเรน การหยุดรถในที่ห้ามจอด การขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนด
รวมทั้งการผ่านสัญญาณจราจรที่ให้หยุดรถ และการใช้ช่องเดินรถ ซึ่งมีการอนุมัติใช้แล้วตั้งแต่ปี 2553 แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ พร้อมกับให้กำลังใจอาสาสมัครทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีสุดความสามารถ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยด้วย