xs
xsm
sm
md
lg

นักท่องเที่ยวร่วมงานแห่ประสาทผึ้งสกลฯคึก 14 ขบวนโชว์ตระการตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครพนม - จังหวัดสกลนครเปิดงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งอย่างยิ่งใหญ่วิจิตรตระการตา ขบวนปราสาทผึ้ง 14 ริ้วขบวน พร้อมการแสดงประกอบแสง สี เสียง เทิดไท้พระบารมี จากผู้แสดงกว่า 1 หมื่นคน เคลื่อนขบวนไปยังวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร เพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา ท่ามกลางประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมนับแสนคน

เมื่อเวลา 17.00 น.วันนี้ (11 ต.ค.) ที่ถนนสุขเกษม เขตเทศบาลเมืองสกลนคร นางวิตยา ประสงค์วัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดงานประเพณีเทศกาลออกพรรษาแห่ปราสาทผึ้ง ประจำปี 2554 ซึ่งจังหวัดสกลนคร เทศบาลเมืองสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดขึ้น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านให้คงอยู่สืบไป

โดยขบวนปราสาทผึ้งที่ตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา รวม 14 ขบวน ตลอดจนการแสดงประกอบแสง สี เสียง ที่ตื่นตาตื่นใจ ริ้วขบวนการแสดงของชนเผ่าพื้นเมือง 8 ชนเผ่า เช่น ภูไท ไทยกะเลิง ไทยย้อ ไทยโส้ ไทยลาว เผ่าโย้ย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร แต่ละขบวนประชันกันอย่างยิ่งใหญ่

ส่วนการแสดงที่สร้างสีสันในงาน คือ รำมวยโบราณ ฟ้อนหางนกยูง ฟ้อนภูไทย โซ่ทั่งบั้ง และการแสดงเทิดไท้องค์ราชันย์ สื่อถึงความ จงรักภักดี ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ท่ามกลางนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแห่ชมตลอดระยะทาง 4 กิโลเมตร กว่า 1 แสนคน

โดยขบวนแห่เคลื่อนขบวนจากหน้าศาลากลางจังหวัดสกลนครไปตามถนนสุขเกษม เลี้ยวขวาไปยังถนนเจริญเมืองเข้าสู่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร จากนั้นคณะกรรมการตัดสินจะให้คะแนนและประกาศผลเพื่อรับรางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินสดขบวนปราสาทผึ้งที่ชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 1 แสนบาท 7 หมื่นบาท และ 5 หมื่นบาทตามลำดับ

สำหรับการทำปราสาทผึ้งส่วนมากในภาคอีสาน นิยมทำกันมาแต่โบราณ ด้วยเหตุหรือคติที่ว่า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อตั้งความปรารถนาไว้ หากเกิดในภพมนุษย์ขอให้มีปราสาทราชมณเฑียรอาศัยอยู่ด้วย ความมั่งมีศรีสุข ถ้าเกิดในสวรรค์ขอให้มีปราสาทอันสวยงามมีนางฟ้าแวดล้อมเป็นบริวาร เพื่อรวมพลังสามัคคีทำบุญ ทำกุศลร่วมกัน พบปะสนทนากันฉันท์พี่น้อง

เพื่อเป็นการประกาศหลักศีลธรรม ทางบุญ ทางกุศลให้ปรากฏ โดยชาวคุ้มวัดต่างๆ ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้าประชาชน บริจาคเงิน ตามศรัทธา พร้อมกันทำปราสาทผึ้ง เป็นการสืบทอดประเพณีในภาคอีสานให้คงอยู่ต่อไป ให้สมกับได้ชื่อว่าเป็นเมืองศีลถิ่นธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น