xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯพิจิตร ตั้งวงถกแผนฟื้นฟูหลังน้ำน่านลด - จัด 3 ทีมช่วยชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - พ่อเจ้าเมืองชาละวัน เรียกประชุมแบ่งงานให้รองผู้ว่าฯ-ปลัดจังหวัด ช่วยลงพื้นที่ทำแผนฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม ยอมรับท้องถิ่นกระเป๋าแห้ง ระบุ พิจิตรทั้งลุ่มน้ำยม-น้ำน่าน ถูกน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหาย 9 แสนไร่ ขณะนี้น้ำลดทำให้พื้นที่ 1 แสนไร่เศษ มีความหวังปลูกข้าว เตือนระวังพันธุ์ข้าวปลอม และห้วงเวลาเข้าโครงการจำนำข้าว

วันนี้ (11 ต.ค.) นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ประชุมร่วมกับนางอัจฉราภรณ์ บุญญรังสี รองผู้ว้าราชการจังหวัดพิจิตร นายนพรัตน์ ตั้งกิตติถาวร ปลัดจังหวัดพิจิตร นายประเวศน์ ศิริศิลป์ ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดพิจิตร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปปัญหาจากการเกิดน้ำท่วมทั้งในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน-ลุ่มน้ำยม ที่พบว่า น้ำได้เข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรเสียหายกว่า 971,384 แสนไร่ ซึ่งถือว่าเสียหายมากที่สุดในประเทศ

ข้อมูลล่าสุดในวันนี้ ดูจากภาพถ่ายดาวเทียม ปรากฏว่า น้ำเริ่มลดลงแล้ว มีพื้นที่เสียหายเหลืออยู่ 880,000 ไร่ และมีพื้นที่ ที่ส่อเค้าว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ในการทำนาได้แล้วเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 1 แสนไร่

ดังนั้น จึงจะต้องป้องกันไม่ให้น้ำท่วมแผ่ขยายเป็นวงกว้าง โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตรวจแนวกระสอบทราย และพนังกั้นน้ำอย่าให้เกิดประวัติซ้ำรอยเหมือนบ้านบางไผ่ อ.ตะพานหิน รวมถึงให้กอบกู้เส้นทางคมนาคม และตั้งโรงครัวหาอาหาร-น้ำดื่มให้ชาวบ้าน

พร้อมกันนั้น ได้มีการแบ่งงานให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และปลัดจังหวัดพิจิตร รวมถึงหัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิจิตร เป็น 3 ทีม เพื่อลงไปช่วยแต่ละอำเภอที่ถูกน้ำท่วม เพื่อกอบกู้สถานการณ์หลังน้ำลดต่อไป

ทีมที่ 1 มี นางอัจฉราภรณ์ รองผู้ว่าราชการ จ.พิจิตร เป็นหัวหน้าทีม ทีมที่ 2 มี นายนพรัตน์ ปลัดจังหวัด เป็นหัวหน้าทีม ทีมที่ 3 มีนายณรงค์ รักร้อย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิจิตรเป็นหัวหน้าทีม ให้ลงไปดูแลใน 7 อำเภอหลักๆที่ถูกน้ำท่วม ได้แก่ อ.โพทะเล อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนาราง อ. เมือง อ.ตะพานหิน อ.บางมูลนาก

ในส่วนของเรื่องงบประมาณ ผู้ว่าฯพิจิตร ยอมรับว่า เป็นช่วงรอยต่อปลายปีกับต้นปีงบประมาณ จึงทำให้ท้องถิ่นต่างๆ ยอมรับว่า ไม่มีงบในการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม อีกทั้งมีหลาย อบต.ก็ใช้เงินสะสมไปจนหมด ซึ่งคงต้องรองบประมาณจากส่วนกลางที่จะอนุมัติงบมาให้ แต่ตอนนี้ให้ใช้วิธีซ่อมแซมให้พอใช้ได้ไปก่อน

นายสุวิทย์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล เข้าสู่แม่น้ำปิง ทำให้น้ำเอ่อล้นเข้ามาในเขต อ.บึงนาราง และ อ.โพทะเล อ.โพธิ์ประทับช้าง ที่น้ำได้ไหลเข้ามาทางฝายวังบัวและฝายวังยาง เข้ามาตามคลองสาขาต่างๆ ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำยม ที่เคยถูกน้ำท่วมอยู่แล้วกลับถูกน้ำท่วมสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากอีก 30 วันต่อจากนี้ ถ้าไม่มีพายุหรือฝนตกลงมาซ้ำพื้นที่ลุ่มน้ำยม พิจิตร ก็อาจจะกลับเข้าสู่ภาวะให้ทำการเกษตรได้

กำลังโหลดความคิดเห็น