พิจิตร - เจ้าเมืองชาละวันอุณหภูมิเดือดถึงขั้นปรอทแตก หลังเจอชาวนาพิจิตรร้องระงม เหตุพันธุ์ข้าวปลอมระบาด ทำเจ๊งย่อยยับ นำทีมสารวัตรเกษตร ถือ พ.ร.บ.พันธุ์พืช ร่วมกับตำรวจออกจับร้านค้าขี้โกงแล้ว
วานนี้(10 มี.ค.)นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยนางวิไล ปาละวิสุทธิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก และเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช ร่วมกับตำรวจ ออกจับกุมร้านค้าที่ขายเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก โดยไม่ได้รับอนุญาตและนำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานมาวางจำหน่าย
ภายหลังรับเรื่องร้องเรียน จากชาวนาอย่างน้อย 2 ราย คือ นายสี วันสุริวงศ์ อายุ 47 ปี ทำนา 40 ไร่ ,นายสุทัศน์ บุญผ่อง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทำนา 22 ไร่ ที่ถูกหลอกให้ใช้พันธุ์ข้าวปลอม ไม่ตรงกับคำโฆษณาที่ระบุไว้ข้างถุงบรรจุเมล็ดพันธุ์ ชื่อการค้าว่า “ข้าวปลูกตราช้างศึก” ซึ่งไม่แจ้งแหล่งผลิต อีกทั้งสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อนำมาปลูกมาเกือบ 3 เดือน จึงรู้ว่าถูกหลอก
ผู้ว่าฯพิจิตร ได้นำกำลังเข้าจับกุมร้านเกษตรไทยพันธุ์ข้าว ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าตลาดสามง่าม แจ้งข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช และได้ตรวจอายัดสินค้าไว้เป็นของกลาง ซึ่งเจ้าของร้านดังกล่าวเป็นนักการเมืองท้องถิ่นของ จ.พิษณุโลก ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นผู้จำหน่ายจริง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเชื่อเซลส์แมนที่นำมาฝากขาย และได้แสดงความรับผิดชอบจะช่วยเหลือชาวนาที่ซื้อพันธุ์ข้าวไปปลูกและได้รับความเสียหายด้วย
นายสุวิทย์ กล่าวว่า ชาวนาพิจิตรขณะนี้เดือดร้อนมาก เพราะพันธุ์ข้าวขาดแคลน เมื่อเจอพันธุ์ข้าวนำมาเสนอขายในราคาถูก แถมให้สินเชื่อมีของแจกของแถมก็ซื้อเอาไว้ อีกทั้งขาดความรู้ในการดูเมล็ดพันธุ์ ว่า ชนิดใดเป็นของจริงมีคุณภาพจึงตกเป็นเหยื่อ
ในอนาคตอาจต้องรื้อฟื้นโรงเรียนชาวนา กลับมาให้ความรู้กับชาวนาแบบหลักสูตรระยะสั้น เรียนรู้แบบภาคปฏิบัติ โดยใช้ปราชญ์ชาวบ้านและนักวิชาการร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องข้าวทุกขั้นตอนกระบวนการ อีกทั้งจะต้องเร่งสร้างกลุ่มชาวนาต้นแบบที่จะเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ขยาย หรือพันธุ์ข้าวปลูกภายในตำบลแล้วขายให้ชาวนาด้วยกันเอง ซึ่งจะทำให้รู้ที่มาที่ไปของพันธุ์ข้าวและตรวจสอบได้ เพราะเป็นผู้ผลิตพันธุ์ข้าวที่อยู่ใกล้ตัว
“ที่ผ่านมาชาวนาต้องถูกหลอกเพราะความซื่อ โดยพ่อค้าหัวขี้โกงเอาจุดอ่อนดังกล่าวมาหลอกชาวนาครั้งนี้เป็นเรื่องที่สุดทนแล้ว ที่ชาวนาถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงต้องออกพื้นที่ลุยจับเองและยอมรับว่า 70% ของพันธุ์ข้าวปลูกที่ขายให้แก่ชาวนาพิจิตรล้วนแต่เป็นของปลอม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการบริหารจังหวัดพิจิตร ที่จะต้องมีการแก้ไขต่อไปเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก”