ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สป.ระดมความเห็นพร้อมเสนอแนะรัฐบาลแปรรูปสินสินค้าเกษตรทุกประเภทเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ด้านตัวแทนชาวนาภาคกลางลงมติเห็นพ้องให้รัฐชดเชยช่วยเหลือชาวนาเร่งด่วน ปรับการรับจำนำข้าวเป็นระบบประกันราคา เตรียมพร้อมฟื้นฟูหลังน้ำลด
วันนี้ (6 ต.ค.) นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) เปิดเผยภายหลังจากการสัมมนาเรื่อง “เศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง อุตสาหกรรมและการเกษตร กับนโยบายของรัฐบาล” โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในเรื่องภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ว่า นอกจากภาครัฐจะมีนโยบายในเรื่องการเพิ่มราคาสินค้าเกษตรตามที่ได้กำลังดำเนินการและรอการอนุมัติอยู่หลายโครงการซึ่งถือเป็นโครงการที่ดีแล้ว รัฐบาลควรให้ความสำคัญในด้านการสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการแปรรูปสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มก่อนนำออกไปจำหน่ายเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศซึ่งจะนำเงินตราเข้าประเทศได้เพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายที่ดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว
“ผมว่าวันนี้รัฐบาลควรมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าในการส่งออกมาเป็นรายได้คืนกลับสู่ประเทศไทยมากกว่าการส่งออกวัตถุดิบ จากปัญหาอุทกภัยสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนาข้าวที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมและต้องได้รับการเยียวยาช่วยเหลือในพื้นที่จำนวนมหาศาล ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีผลผลิตข้าวหรือมีก็ได้ผลผลิตออกมาน้อย ประกอบกับตอนนี้รัฐบาลกำลังจะเดินหน้าในนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกในวันที่ 7 ต.ค.นี้ เมื่อไม่มีข้าวออกมาให้จำนำ รัฐบาลก็ควรมีแนวคิดหรือต่อยอดว่าควรนำข้าวที่มีน้อยเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมอะไรได้บ้างที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้”
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยด้านข้าว หรือนำงานวิจัยเรื่องข้าวที่มีอยู่แล้วมาดูว่าจะแปรรูปข้าวที่มีอยู่จำนวนน้อยเหล่านั้นไปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมอะไรที่ช่วยเพิ่มมูลค่าได้ดีกว่าการส่งออกข้าวเปลือก โดยจะต้องมองสถานการณ์ในด้านอุตสาหกรรมอย่างรอบด้านทั้งในและต่างประเทศว่าต้องการสินค้าแปรรูปอะไร ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องข้าวเท่านั้นสินค้าเกษตรประเภทอื่น ๆ ทั้ง ยาง ปาล์ม อ้อย ฯลฯ รัฐบาลก็ควรมีการคิดและวางแผนในการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้เหมือนกันเพราะเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมก็ต้องมุ่งเน้นพัฒนาเรื่องเกษตรให้ครบวงจร ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนอันจะช่วยลดปัญหาโจร ผู้ร้าย อีกด้วย”
ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคฯ ยังได้สรุปสถานการณ์และความคิดเห็นจากตัวแทนชาวนาภาคกลางที่ลงมติเห็นพ้องกันเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีในฤดูกาลปี 2554-2555 มูลค่า 410,000 บาท ว่า เนื่องจากสถานการณ์การเก็บเกี่ยวข้าว และคาดการณ์ว่าการปลูกข้าวของชาวนาเปลี่ยนไปเพราะเกิดจากปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วมข้าว ทำให้ชาวนาในหลายพื้นที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ประกอบกับชาวนาไม่มีรายได้จากทางอื่น รวมทั้งไม่มีอาชีพ และเงินทุนสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ ณ วันนี้ (6 ต.ค.) ได้มีการสรุปตัวเลขความเสียหายพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 8 ล้าน 5 แสนไร่ ทำให้ผลผลิตข้าวหายไป 4-5 ล้านตันข้าวเปลือก ส่งผลกระทบต่อชาวนาถึง 2 ล้าน 4 แสนคน ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบทำให้ไม่มีข้าวออกมาจำนำกับโครงการของรัฐบาลไปด้วยว่า รัฐบาลเองก็ควรมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการจำนำข้าวจาก “การรับจำนำ” เป็น “การประกันราคาข้าว” ไปสักระยะหนึ่งก่อน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาช่วยเหลือชาวนาในยามยาก ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาวนา จากนั้นค่อยปรับเปลี่ยนเป็นวิธีการอื่นซึ่งจะต้องทำให้ชาวนาเกิดความพึงพอใจ ทั้งนี้จะเป็นการช่วยป้องกันข้อครหาการสวมสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ภาครัฐควรเตรียมแผนการชดเชยช่วยเหลือชาวนาโดยจัดหาปัจจัยการผลิต และช่วยเหลือฟื้นฟูในเรื่องการเตรียมแปลงปลูกข้าวในช่วงหลังน้ำลด สำหรับตัวเลขที่รัฐบาลจะชดเชยให้ชาวนาไร่ละ 2,200 ต่อไร่นั้น คงช่วยบรรเทาได้ไม่ครอบคลุม ดังนั้น ควรมีการช่วยเหลือเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา ค่าไถฟรี แก่ชาวนาเพิ่ม อีกทั้งควรพิจารณาเรื่องการนำเมล็ดพันธุ์ดีที่มีคุณภาพดีจริง ไปส่งเสริมให้ชาวนาปลูกเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตและรายได้ต่อไร่ให้สูงขึ้น เพราะหากนำเมล็ดพันธุ์ที่ด้อยคุณภาพไปให้ชาวนาก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมให้ชาวนาแย่ลงไปอีก