อุบลราชธานี - ลูกทัพฟ้ากองพลบินที่ 2 อุบลราชธานี ยกพลแสดงดนตรีปลอบขวัญชาวบ้าน พร้อมร่วมสภากาชาดไทย แจกขนมปรุงข้าวเลี้ยง ขณะที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 เดินหน้าพร่องน้ำลดน้ำท่วมในตัวจังหวัด ด้านประธานหอการค้าอุบลฯ ชมการแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดทำได้ดี
ที่ศูนย์อพยพภัยน้ำท่วมชุมชนเกตุแก้ว เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี หน่วยบินที่ 21 กองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ กองทัพอากาศ นำวงดนตรีของหน่วยบินมาแสดงให้ชาวบ้านและลูกหลานของผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ผ่อนคลายความกังวลและความเหงาที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมเป็นเวลาร่วม 2 เดือน
นอกจากการแสดงดนตรีเพื่อปลอบขวัญแล้ว ยังมีการแสดงความสามารถของสุนัขสงครามในการดมกลิ่นหาวัตถุระเบิด และยาเสพติด
ขณะเดียวกันยังร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข และคณะเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี นำแพทย์พยาบาลตรวจรักษาอาการผู้อพยพที่ป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้า โรคไข้หวัด เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย รวมทั้งแจกขนม ไอศกรีม และปรุงอาหารเลี้ยงผู้อพยพที่มาอาศัยอยู่ในศูนย์แห่งนี้เกือบ 500 คน
ปัจจุบันจังหวัดมีพื้นที่น้ำท่วมบ้านเรือนรวม 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.วารินชำราบ และ อ.ตาลสุม ประชาชนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนมาพักอยู่ตามศูนย์อพยพต่างๆ กว่า 5,000 คน สำหรับแนวโน้มแม่น้ำมูลมีระดับน้ำลดลงเฉลี่ยวันละ 5-10 เซนติเมตร แต่ยังมีน้ำล้นตลิ่งสูงเกือบ 2 เมตร
ขณะที่สะพาน 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำมูลระหว่าง อ.เมือง กับอำเภอวารินชำราบ จังหวัดและสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 นำเรือลากจูงเรือดูดทรายจำนวน 7 ลำ ผลักดันน้ำที่กำลังไหลผ่านสะพามข้ามแม่น้ำมูลตรงบริเวณดังกล่าว และเกิดเป็นน้ำวนม้วนตัวบริเวณตอม่อของสะพานทำให้น้ำที่กำลังจะไหลผ่านไหลช้า เมื่อใช้ใบพัดเรือไปกระตุ้นน้ำให้เกิดการกระจายตัว จะทำให้น้ำบริเวณดังกล่าวไหลผ่านได้เร็วขึ้น เพื่อเร่งลดระดับน้ำท่วมในเขตชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูลในเทศบาลเมืองวารินชำราบ และเทศบาลนครอุบลราชธานี โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 ระบุว่า ทำการผลักดันน้ำด้วยวิธีนี้วันละ 4 ชั่วโมง สามารถระบายน้ำได้กว่า 234,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ด้าน นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจในภาวะน้ำท่วมครั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการจัดเก็บตัวเลขที่แน่ชัด และสรุปได้หลังน้ำลดลงแล้ว แต่คาดไม่รุนแรง แม้ปีนี้จะมีปริมาณน้ำท่วมมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะบริเวณที่ถูกน้ำท่วมไม่อยู่ในเขตเศรษฐกิจเป็นที่อยู่อาศัยที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี
สำหรับการแก้ปัญหามีแนวความคิดหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2545 ครั้งนั้นมีการศึกษาทำบายพลาสให้น้ำไหลผ่านจุดชุมชนที่ถูกน้ำท่วม หรือทำแก้มลิงเก็บกักน้ำ สำหรับแนวคิดทำบายพลาสน้ำมีการคำนวณตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจไม่คุ้มทุน แต่สำหรับแก้มลิงสามารถช่วยเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก และจ่ายน้ำที่เก็บไว้ช่วยในฤดูแล้ง จึงเป็นโครงการที่อยู่ในแผนที่ต้องมีการจัดทำใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ส่วนการเสียโอกาสของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม มีการประเมินพื้นที่ทั้งการทำประมงริมฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่เกษตรกรรมพบว่า 70-80% ที่ถูกน้ำท่วมเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก และชาวบ้านที่อยู่อาศัยก็ทราบดีอยู่แล้วว่าอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำของแม่น้ำ ภาคราชการทำได้เพียงให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้า
สำหรับอนาคตพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องมีการพูดคุยเรื่องการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เช่น จังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำมูล ยโสธรเป็นต้นน้ำของแม่น้ำชี ส่วนอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ปลายน้ำของแม่น้ำโขง จึงต้องพูดคุยจะส่งต่อน้ำกันอย่างไร และจะเก็บน้ำไว้ใช้อย่างไร เมื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งให้ทุกฝ่ายลงได้
ตัวอย่างเช่นการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ แม้จังหวัดอุบลราชธานีจะมีน้ำมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา แต่นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีการบูรณาการบริหารน้ำที่จะไหลมารวมกัน มีการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม การนั่งเรือสำรวจ รวมถึงการขึ้นบินสำรวจตามลุ่มน้ำ ทำให้ทราบปริมาณน้ำที่จะไหลมารวมกันได้ล่วงหน้า จึงระดมใช้เครื่องสูบน้ำ และใช้เรือผลักดันน้ำ ให้ไหลออกจากตัวจังหวัดลงสู่แม่น้ำโขงไปก่อนมวลน้ำปริมาณมากชุดใหม่จะมาถึง ทำให้ผลกระทบที่น่าจะรุนแรงลดลง เป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการน้ำที่ได้ผลดี และชาวบ้านได้รับประโยชน์จากปริมาณน้ำท่วมที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งคนที่จะมาเป็นผู้บริหารคนต่อไปต้องใช้เป็นแนวคิดในการแก้ปัญหาในปีต่อๆ ไปด้วย