xs
xsm
sm
md
lg

“ทัพภาค 2” ส่งทหาร 3,000 นาย ช่วย ปชช.อีสานน้ำท่วม 14 จว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร  มทภ.2
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กองทัพภาค 2 ระดมกำลังพลกว่า 3,000 นาย ลงช่วย ปชช. ประสบภัยน้ำท่วม 14 จังหวัด อีสาน โดยเฉพาะ ชัยภูมิ-อุบลฯ ประสบภัยรุนแรง ราษฎรเสียชีวิตแล้ว 5 ศพ ด้าน แม่ทัพภาค 2 ชี้ต้องเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวร่วมกัน โดยเฉพาะผังเมืองต้องปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม

วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่สโมสรร่วมเริงไชย ภายในค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ในปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานถือว่าเบากว่าภาคอื่น จากรายงงานล่าสุดพบมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม 14 จังหวัดจาก 20 จังหวัด แต่ที่หนักสุดคือ จ.อุบลราชธานี , จ.ชัยภูมิ และ จ.ร้อยเอ็ด โดยเฉพาะที่ จ.ชัยภูมิ เป็นที่น่าเสียใจที่มีการสูญเสียชีวิตของราษฎรไปจำนวน 5 คน เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาน้ำป่าไหลทะลักลงมาแรง จึงส่งผลทำให้พี่น้องประชาชนเสียชีวิต

สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้นได้สั่งการให้กำลังพลลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในทุกพื้นที่ของภาคอีสาน ซึ่งเฉลี่ยแล้วประมาณ 70% มีปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ไร่นา สวน ส่วนพื้นที่เศรษฐกิจมีปัญหาน้ำท่วมน้อย มีเฉพาะที่ จ.ชัยภูมิ กับ จ.อุบลราชธานี เท่านั้น โดยกองทัพภาคที่ 2 ได้จัดส่งกำลังทหารลงไปช่วยเสริมที่มณฑลทหารบกจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว โดยใช้รถยนต์ไปแล้วกว่า 200 คัน กำลังพลกว่า 3,000 นาย เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจสภาพสถานการณ์น้ำที่ จ.อุบลราชธานี และนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งทาง จ.ชัยภูมิ และ จ.อุบลราชธานี ได้ร้องขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาแล้ว เพราะกองทัพมีกำลังคนและมีอุปกรณ์สามารถช่วยเหลือประชาชนออกจากพื้นที่ยากลำบากได้

พล.ท.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า ดูจากสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบัน คาดว่าในปีต่อไปช่วงฤดูฝนน่าจะมีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นตลอด เพราะภาวะโลกร้อนและการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเรื่องนี้ ผบ.ทบ.ได้สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ประสานกับทางจังหวัดและผังเมืองจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งกรมทางหลวงและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนในการป้องกันน้ำท่วมร่วมกัน แต่หากทำพร้อมกันทุกจังหวัดคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเราคงไม่มีเงินก้อนใหญ่ขนาดนั้น ฉะนั้นคงต้องจัดลำดับความเร่งด่วนโดยเอาความคิดของกองทัพภาคด้วย และแต่จังหวัดร่วมกัน เพื่อจะได้แก้ไขเป็นจุดไป

อย่างไรก็ตาม หากจะมองตอนนี้คิดว่าพื้นที่ที่ควรเริ่มดำเนินการก่อนเป็นพื้นที่นำร่อง คือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งประชาชนรับรู้กันอยู่แล้วว่ามีน้ำท่วม แต่เราต้องให้ความรู้เรื่องการสร้างที่พักอาศัยอยู่ริมตลิ่งชายน้ำ หากย้อนกลับไปดูอดีตคนสมัยเก่าที่สร้างบ้านพักให้มีใต้ถุนโล่ง สูง แต่ทุกวันนี้เราก็เอาไปปิดไว้ ฉะนั้นเรื่องผังเมือง คิดว่าคงต้องเร่งรัดเป็นอันดับแรกว่าใครจะสร้างที่ไหน ถมดินสูงได้แค่ไหน ไม่ใช่คนที่มาทำทีหลังก็ถมสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้คนที่สร้างก่อนเสียหาย ฉะนั้นเราต้องมีการปรับปรุงในเรื่องผังเมืองได้แล้ว

ส่วนจังหวัดที่รองลงมาควรแก้ปัญหาที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมา ซึ่งได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดไปคร่าวๆ แล้ว โดยที่ จ.นครราชสีมา น่าจะต้องกั้นแนวทางทิศตะวันออก และ มีการทำถนนวงแหวนแล้วด้านนอกเป็นคลอง และมีสะพานที่แข็งแรงทุกจุดและมีประตูเปิด-ปิดเหมือนชลประทานแล้วติดตั้งเครื่องสูบระบายน้ำออกหากมีน้ำเข้ามาใจกลางเมือง โดยกองทัพภาคที่ 2 มีวิศวกรทหารช่างที่สามารถช่วยวางแผนได้อยู่แล้ว

“โดยเฉพาะ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มี แผนดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้ลงมือทำกันในปีหน้า แต่ในปีนี้ก็ใช้กระสอบทรายกั้นเป็นแนวกว่าแสนกระสอบทำเสร็จหมดแล้ว เพื่อไม่ให้ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้รับผลกระทบ เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ท่านทรงเป็นห่วงมาก” พล.ท.ธวัชชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น