ฉะเชิงเทรา- พ่อเมืองแปดริ้วลงรับหนังสือร้องขอค่าชดเชยส่วนต่างจากชาวนา พร้อมรับฝากโจทย์ผ่านไปถึงยังรัฐบาล ให้ช่วยนำกลับไปแก้ไขปัญหาช่วงระหว่างรอยต่อที่แตกต่างระหว่างสองนโยบายภาครัฐบาลเก่า-ใหม่ ที่ผลัดเปลี่ยนและต่างมุมกันอย่างสิ้นเชิง
วันนี้ (26 ก.ย.) นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ รองผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากสำนักงานเกษตรจังหวัด ได้เดินทางลงมาพบกับกลุ่มชาวนา จากพื้นที่ 6 ตำบลใน 2 อำเภอ คือ อ.พนมสารคาม และ ราชสาส์น ที่ได้เดินทางมารวมตัวชุมนุมกัน ภายในบริเวณศาลาไทย หน้าศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 600 คน เพื่อเรียกร้องส่วนต่างจากการประกันราคาข้าวที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายที่ไม่ต่อเนื่องกันของรัฐบาลชุดปัจจุบันและรัฐบาลชุดก่อน จนทำให้ชาวนาสูญเสียรายได้จากส่วนต่างดังกล่าว
ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” นั้น จะเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.54 นี้ ซึ่งจะมีข้าวออกมาเข้าร่วมโครงการกว่าหนึ่งหมื่นตัน ที่ในช่วงนั้นจะได้ในราคาของการรับจำนำ คือ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าการประกันราคาข้าวของรัฐบาลชุดก่อน แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ต้องเป็นคนที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว จึงจะได้สิทธิ์ตามราคาที่ได้ประกันไว้ ขณะที่การรับจำนำข้าวนั้น ชาวนาต้องมีข้าวอยู่ในมือ และต้องมีใบรับรองจากกระทรวงเกษตรฯจึงจะนำไปจำนำได้ในราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตัน
ส่วนชาวนาผู้ที่ได้เคยจดทะเบียนไว้ก่อนหน้า แต่ไม่ได้รับค่าชดเชยส่วนต่างตามนโยบายการประกันราคาข้าวของรัฐบาลชุดก่อนที่หมดวาระไปแล้วนั้น ถือเป็นโจทย์ที่จะต้องรีบฝากไปถึงกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ได้นำไปคิดว่าผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วนั้นจะทำอย่างไร จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้เขาอย่างไร ขณะนี้จึงได้หวังใจว่าในการประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ จะมีเรื่องนี้ได้เข้าไปพูดคุยอยู่ในวาระของการประชุมด้วย
สำหรับส่วนชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ก็ต้องเลือกที่จะขอรับการช่วยเหลือได้เพียงทางใด ทางหนึ่งว่าจะเลือกที่จะเรียกร้องค่าชดเชยส่วนต่าง หรือจะเลือกรับความช่วยเหลือความเสียหาย ที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถที่จะเลือกเอาทั้งสองทางได้พร้อมกัน
ขณะนี้ก็ได้ให้เกษตรจังหวัดเข้าไปดูในพื้นที่เพื่อให้เกิดความชัดเจนแล้ว โดยที่ขณะนี้มีชาวนาอยู่ในพื้นที่ประมาณ 2.6 หมื่นถึง 3 หมื่นราย แต่มีชาวนาที่ยังมีข้าวอยู่ในมืออยู่แค่เพียง 1.1 หมื่นรายเท่านั้น ขณะที่มีผู้มาเรียกร้องต้องการขอค่าชดเชยส่วนต่าง จากนโยบายการประกันราคาข้าวนั้น ประมาณ 1.6 หมื่นราย
ทั้งนี้ นายกิตติ ได้เดินทางลงมาพูดคุยเพื่อเกลี้ยกล่อมกับชาวนาผ่านทางโทรโข่ง จากนั้นจึงได้รับหนังสือร้องขอค่าชดเชย พร้อมรายชื่อแนบท้ายจากชาวนาที่ต้องการเรียกร้องทวงคืนสิทธิ์ จากชาวนาในท้องที่ตำบลต่างๆ เพื่อส่งผ่านไปถึงยังรัฐบาล ให้ได้รับรู้ถึงความต้องการของชาวนาที่เสียโอกาสในช่วงระหว่างรอยต่อของทั้งสองรัฐบาล และได้รับผลกระทบจากนโยบายที่แตกต่างกันของรัฐบาลทั้งสองชุด โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ชาวนาจึงได้ยอมสลายการชุมนุม และเดินทางกลับไปในที่สุด
ด้าน นางลูกชิ้น คงสุวรรณ อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 63 ม.3 ต.หนองยาว กล่าวว่า ทำนาอยู่กว่า 50 ไร่ ก็ถูกน้ำท่วมเสียหายเกือบทั้งหมด ทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนการเพาะปลูกในการประกันราคาข้าวไว้แล้วอย่างครบถ้วน ก็ยังไม่ได้ค่าชดเชย จึงอยากฝากเรื่องไปถึงนายกหญิงให้ช่วยเหลือค่าส่วนต่างตรงนี้ด้วย