หนองคาย -สคร.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นภาครัฐ-เอกชน โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เผย เป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านการขนส่ง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว เฉพาะหน้าเป็นการเตรียมรับการเป็นประชาคมอาเซียนปี 58 แนะชาวไทยและชาวหนองคาย ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงรอบด้านในอนาคต ประเดิมรถไฟเร็วสูงเฟสแรก กรุงเทพ-โคราช เริ่มสร้าง 2556 เปิดใช้ได้ 2560
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมโรงแรมบุษบงไฟน์รีสอร์ท อ.เมืองหนองคาย นายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดงาน สคร.สัญจร 2554 เวทีเสวนา รถไฟความเร็วสูง โอกาสของประเทศไทยและคนไทย โดยมีประธานหอการค้าหนองคาย, ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย, ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย, ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสอบถามความคืบหน้าของการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง
นายสมชัย สัจจพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงนั้นถือเป็นความก้าวหน้าของการขนส่งระบบรางไปสู่อนาคต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ลดระยะเวลาในการเดินทาง สามารถขนส่งคนและสินค้าต่อเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก ใช้พลังงานไฟฟ้า ก่อให้เกิดมลภาวะน้อยกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และรองรับการจัดงานระดับนานาชาติ รวมถึงรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ ในปี 2558 ซึ่งหลังจากนี้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย ชาวหนองคายจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านแรงงาน อาชีพ การศึกษา การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนและประชาชนชาวหนองคายในการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการรถไฟความเร็วสูง ผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้วเมื่อ พ.ย.2553 ควบคู่กับการพัฒนาระบบรถไฟไทย การก่อสร้างรถไฟรางคู่ โดยรถไฟความเร็วสูงจะแบ่งเป็นเฟส เฟสแรกเริ่มจากกรุงเทพ-นครราชสีมา คาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2556 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2560 หลังจากนั้น จะเดินหน้าเฟสต่อไปให้ครบ 5 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-เชียงใหม่, กรุงเทพ-หนองคาย, กรุงเทพ-อุบลราชธานี, กรุงเทพ-ระยอง และ กรุงเทพ-ปาดังเบซาร์ โดยมีทางเลือกในการลงทุน 2 ทาง คือ รัฐลงทุนทั้งหมด 100% มูลค่าราว 201,449 ล้านบาท ทางเลือกที่ 2 เอกชนลงทุนตัวรถ วงเงิน 18,850 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ต้องรอผลการเจรจากับรัฐบาลจีนก่อน
สำหรับเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย นั้น ระยะทาง 615 กม.ผ่าน 7 จังหวัด 11 สถานี คือ กรุงเทพ (บางซื่อ)-อยุธยา-สระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมา-บัวใหญ่-บ้านไผ่-ขอนแก่น-เขาสวนกวาง-อุดรธานี-หนองคาย ใช้เวลาเดินทาง 4.55 ชั่วโมง ความเร็วโดยเฉลี่ย 220-300 กม./ชม.ค่าโดยสาร 984 บาท เส้นทางบางช่วงอาจมีการปรับเป็นอุโมงค์ให้สอดคล้องกับการเดินทาง มีการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารไว้ล่วงหน้า ในปี 2560 จะมีผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูง 41,000 คน, ปี 2565 จำนวน 46,400 คน, ปี 2570 จำนวน 52,000 คน และในปี 2575 น่าจะมีผู้โดยสารจำนวน 59,700 คน
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผอ.สำนักพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า โครงข่ายระบบรางในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4,000 แห่ง อยู่ในภาคอีสานค่อนข้างมาก ระบบรางของไทยใช้งานมานาน จึงเกิดปัญหาการบำรุงรักษา เกิดปัญหาต่อค่าขนส่ง ทำให้ต้นทุนลอจิสติกส์ของไทย ณ วันนี้ คิดเป็นร้อยละ 19 ของจีดีพี หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท หากไม่มีการปรับปรุงจะทำให้ปัญหาต้นทุนลอจิสติกส์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งที่พยายามผลักดันเพื่อลดต้นทุน ส่งผลต่อผลประกอบการเอกชนโดยตรง กระทรวงคมนาคมจึงกำหนดแผนแม่บทพัฒนาระบบราง และรถไฟความเร็วสูงขึ้น เพื่อลดสัดส่วนการใช้ถนนซึ่งมีอัตราการใช้ถนนสูงร้อยละ 80 ขณะที่ใช้ทางรางเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น
ผลตอบแทนการลงทุนเส้นทางอีสานค่อนข้างคุ้มค่ากว่าทางเหนือและตะวันออก คิดเป็นร้อยละ 17 ทั้งๆ ที่การลงทุนภาคอีสานค่อนข้างสูงถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งผู้โดยสารสายอีสานจะเริ่มตั้งแต่ 40,000-100,000 คน ในเวลารวดเร็ว
ด้าน นายประเสริฐ วิทยาภัทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ทางการลาวได้ขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุนการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากสถานีท่านาแล้ง ไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ ระยะทาง 9.5 กม.ส่วนรถไฟความเร็วสูงในลาวอาจชะลอไปก่อน เนื่องจากติดขัดปัญหาบางประการระหว่างรัฐบาลลาว กับรัฐบาลจีน แต่สำหรับรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพ- หนองคาย นั้น ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ
โดยเฉพาะคนหนองคายต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง รองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว หากสามารถเชื่อมเส้นทางต่อไปยังประเทศจีน จะมีประชาชนนักท่องเที่ยวมากกว่า 10 ล้านคน เข้าออกตลอดเวลา การให้บริการ และการเรียนรู้ทางภาษาต่างประเทศจำเป็นอย่างมากที่ชาวหนองคายต้องเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่บัดนี้เพื่อไม่ให้โอกาสทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวสูญเสียไป เพราะเพียงแค่ไม่รู้ภาษา