ระยอง - กรรมการสิทธิฯลงพื้นที่บ้านค่าย หลังมีชาวบ้านรวมตัวคัดค้านตั้งนิคมฯไออาร์พีซี พร้อมให้ กนอ.ชี้แจงการประกาศตั้งนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย
วันนี้ (1 ก.ย.) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายบัณฑร อ่อนดำ รองประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน นายวงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง อนุกรรมการ นางภารนี สวัสดิรักษ์ พยานผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการองค์การอิสระ เดินทางมารับฟังคำชี้แจงจากนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในเรื่องการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย (ไออาร์พีซี) ในพื้นที่ตำบลหนองบัวและตำบลบางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หลัง นายเศรษฐา ปิตุเตชะ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง และแกนนำกลุ่มคนรักบ้านเกิด พร้อมรายชื่อประชาชนชาวบ้านค่ายกว่า 1,400 ชื่อ เข้าชื่อคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย (ไออาร์พีซี)
สำหรับผู้ที่ชี้แจง คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย นายประสบศิลป์ โชติมงคล รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายโพธิวัฒน์ เผ่าพงศ์ช่วง รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และ นายวิเชียร สุขเกิด นายก อบต.บางบุตร โดยมีประชาชนชาวบ้านค่ายเข้ารับฟังล้นห้องประชุมและต้องลงมานั่งรวมตัวค้านอยู่ด้านล่างกว่า 400 คน ชูป้ายคัดค้าน
ด้าน นายประสบศิลป์ กล่าวชี้แจงว่า ตามกฎหมาย กนอ.การประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม เป็นอำนาจของ กนอ.โดยไม่ต้องถามหรือขอความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ เพราะขั้นตอนการตั้งนิคมอุตสาหกรรมนั้น ต้องทำอีไอเอ และเอชไอเอ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอยู่แล้ว หากอีไอเอไม่ผ่าน เราก็ยกเลิกประกาศเขตการตั้งนิคมอุตสาหกรรม ส่วนเรื่องผังเมืองรวมอยู่ระหว่างการดำเนินการในขณะนี้ สำหรับด้านกฎหมายผังเมืองยังไม่มีผลบังคับใช้
นายวิเชียร นายก อบต.บางบุตร กล่าวว่าบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มีหนังสือขอใช้พื้นที่ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย โดยมีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เรื่องสิ่งแวดล้อม และขอความเห็นชอบจาก อบต.บางบุตร ประกอบการพิจารณาการขออนุญาต โดยทาง อบต.บางบุตร เห็นว่าจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนและสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่น จึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนดังกล่าว
นายวิโรจน์ สันเที๊ยะ ชาวบ้าน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ริเริ่มโครงการ “ทุ่งทานตะวันบานที่บ้านค่าย” โดยมีข้าราชการและประชาชนบางส่วนช่วยกันโปรโมตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชาวบ้านก็เริ่มรู้สึก ว่า ไออาร์พีซี เริ่มทำอะไรที่ปิดบังซ่อนเร้นและในที่สุด กนอ. ก็มีการประกาศพื้นที่ใกล้เคียงทุ่งทานตะวัน เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย ชาวบ้านรู้ทันก็เริ่มออกมาต่อต้าน แต่ผู้นำท้องถิ่นกลับมองข้ามความเดือดร้อนของประชาชน กลับไปสนับสนุนโรงงาน จึงเกิดการต่อต้านอย่างมาก มีการประกาศจะไม่เลือกผู้นำท้องถิ่นคนนี้เข้ามาบริหารท้องถิ่นอีกต่อไป
สำหรับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะอนุกรรมการที่เดินทางมาในครั้งนี้ไม่ได้ชี้แจงอะไรเพิ่มเติม เพียงต้องการมารับฟังหน่วยงานที่รับผิดชอบชี้แจงเท่านั้น พร้อมจะนำข้อมูลที่รับฟังในครั้งนี้ไปประชุมปรึกษาหารือ เพื่อวางแนวทางในการดำเนินการต่อไป