ตาก - ตัวแทนภาครัฐ-เอกชน พื้นที่ชายแดนตาก ร่วมหาแนวทางเพิ่มการผลิตไฟฟ้าทางเลือก ขณะที่ “บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด” เดินหน้ารับซื้อวัสดุชีวมวลเพิ่ม หลังผลิตกระแสไฟฟ้าจากกากอ้อยได้แล้ว 16 เมกะวัตต์ ส่งขาย กฟภ.8 เมกะวัตต์
วันนี้ (31 ส.ค.) นายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการผลิตไฟฟ้าทางเลือก โดยใช้วัสดุชีวมวล เช่น ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว นำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ที่ห้องประชุมโกเมน เทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด โดยมี นายเทิดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด พร้อมคณะผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาเทศบาลนครแม่สอด
รวมทั้ง นายรชต วภักดิ์เพชร ผู้จัดการทั่วไปบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด, นายสิรัชวิน คชสารมณี ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สอด ตลอดจนตัวแทนภาครัฐ-เอกชนในพื้นที่แม่สอด แม่ระมาด พบพระ เข้าร่วมหารือ เพื่อร่วมกำหนดแนวทางและมาตรการการใช้พลังงานทางเลือกจากวัสดุชีวมวล ลดต้นทุนทางเศรษฐกิจการลงทุนต่างๆ
นายวุฒิ กล่าวว่า การผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล หรือพลังงานเสริม ที่หาได้จากวัสดุในพื้นที่ เช่น เศษไม้ ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวแล้ว นำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานเสริม และเป็นพลังงานไฟฟ้าสำรองไว้ในอนาคต ซึ่งในพื้นที่อำเภอแม่สอด และจังหวัดตาก เป็นพื้นที่ทางการเกษตร มีวัสดุที่เหลือใช้จากการทำการเกษตรสามารถนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก โดยมีบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด เป็นผู้รับซื้อ และผลิตกระแสไฟฟ้า
ปกติบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากกากอ้อยได้อยู่แล้ว ประมาณ 16 เมกกะวัตต์ และเอาไว้ใช้ในโรงงาน 8 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 8 เมกกะวัตต์นำไปจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สอด
หลังจากมีการประชุมหารือในชั้นแรก ทุกส่วนเห็นชอบให้มีการขับเคลื่อนต่อไป โดยบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด จะเป็นผู้รับซื้อเศษวัสดุชีวมวล และทำการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ในการประชุมครั้งนี้ยังหาข้อสรุปในเรื่องราคาไม่ได้ ต้องมีการประชุมหารือพร้อมสรุปผลในการประชุมครั้งต่อไป
นายสิรัชวิน คชสารมณี ผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สอด กล่าวว่า ปัจจุบันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สอด ได้ซื้อไฟฟ้าจากส่วนราชการและภาคเอกชน 4 แห่งด้วยกัน คือ 1.บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ที่ผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อย ได้ไม่เกิน 8 เมกะวัตต์ 2.บริษัทแม่สอดสตาร์ท ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ได้ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ 3.กรมพัฒนาพลังงานแห่งชาติ (เขื่อนย่าโม อุ้มผาง) ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ได้ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ และ 4.จากกรมพัฒนาพลังงานแห่งชาติ (เขื่อนขุนห้วยแม่สอด ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ) ได้ไม่เกิน 0.02 เมกะวัตต์