xs
xsm
sm
md
lg

ดันขุดลอกกว๊านพะเยาจัดการน้ำ เป็น “วาระจังหวัด” ติง “ธนารักษ์” คิดถึงส่วนรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะเยา - ทต.บ้านต๋อม เมืองพะเยา เสนอจัดการดินขุดลอกกว๊านพะเยา เกิดประโยชน์ ติง “ธนารักษ์” อย่าคิดเป็นสมบัติของตนจัดการลำบากเตรียมผลักดันชุมชนจัดการน้ำ “วาระจังหวัด”

นายจันทร์ติ๊บ ฟูเฟือง ชาวประมงกว๊านพะเยา และที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) บ้านต่อม อ.เมือง จ.พะเยา กล่าวว่า การขุดลอกกว๊านพะเยาทุกครั้ง ที่มีแผนมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการดินที่ขุดลอกขึ้นมาแล้ว ไม่ทราบว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้ เนื่องจากเมื่อดินที่อยู่ในน้ำแล้วนำขึ้นมาบนดินกลายเป็นหน้าที่ของธนารักษ์ที่จะต้องดูแล ซึ่งเมื่อธนารักษ์ แจ้งว่า เป็นดินของตนเอง ทำให้หน่วยงานอื่นๆ หรือภาคเอกชนที่จะเข้าไปขนลำเลียงดินจึงทำได้ลำบาก เพราะติดระเบียบของหน่วยงาน จึงกลายเป็นปัญหาทุกครั้งที่ทำให้การขุดลอกไม่สามารถนำดินไปทิ้งหรือไว้ในพื้นที่อื่นได้ เหมือนการขุดดินขึ้นมาจากในน้ำแล้วนำไปกองไว้ริมกว๊านไม่ได้เพิ่มพื้นที่แต่อย่างใด

ชาวประมงกว๊านพะเยา กล่าวต่อว่า เมื่อมีคณะกรรมการพัฒนากว๊านพะเยาระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ตนคิดว่า ทางออกเรื่องจัดการดินควรดำเนินการได้ เพราะหน่วยงานราชการต้องหารือเพื่อให้ได้ทางออกร่วมกัน ไม่ใช่การมาแบ่งแยกหน้าที่ในการดูแล แต่ต้องหาทางออกร่วมกันว่าจะต้องทำอย่างไรให้การจัดการดินได้ง่ายขึ้น เพราะระเบียบคือสิ่งที่คนกำหนดขึ้น ดังนั้น คิดว่า ต้องสามารถปรับแก้ไขได้ตามความเหมาะสมที่จำเป็นต้องใช้

นายจันทร์ติ๊บ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการจัดเก็บผักตบชวาในกว๊านพะเยา ภาคประชาชนจากบ้านต๋อม เคยมีการเสนอให้หน่วยงาน หรือผู้ที่จะจัดเก็บ ให้ดำเนินการในฤดูแล้งเพื่อจะได้เก็บสะดวก พื้นที่ที่เป็นวัชพืชน้ำ หรือดินดอน ก็สามารถขุดลอกได้ง่าย แต่หากทำในฤดูน้ำหลากจะทำลำบาก และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการจัดเก็บหรือขุดลอกจริงหรือไม่ เพราะน้ำมาก

“ดังนั้น จึงมีมติเสนอจากชาวบ้านต๋อม จะขอดำเนินการจัดทำแผนเรื่องการจัดการน้ำ และผลักดันเรื่องน้ำให้เป็นวาระของจังหวัด เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีใครมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องดำเนินการต่อ” นายจันทร์ติ๊บ กล่าว

ด้าน นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานจังหวัดพะเยา กล่าวว่า เมื่อเรื่องของการจัดการน้ำมีความสำคัญต่อวิถีของประชาชน ทั้งภาคการเกษตร การอุปโภคบริโภค ดังนั้น ตนคิดว่า ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำระดับพื้นที่ ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล ถึงอำเภอ และจังหวัด โดยแม่น้ำทุกสายควรต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการน้ำ เมื่อเป็นระบบแล้วชลประทานคือที่ปรึกษาของแผนการพัฒนาในภาพรวมอย่างเป็นระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น