เชียงราย - การเตรียมงานฉลอง 750 ปีเมืองเชียงราย ม.ค.ปีหน้า (2555) อืดเป็นเรือเกลือ ตัวแทนรัฐ-เอกชนตั้งวงถกพบปัญหาใหญ่หลายหน่วยงานต่างคนต่างเดิน แม้ จว.ตั้งคณะทำงาน แต่หลังวาระโยกย้ายเรื่องเงียบตาม ล่าสุดดึง มฟล.เป็นตัวกลางประสานทุกหน่วย-วางผังโครงการดึงงบหนุน นัดประชุมอีกรอบ 13 สิงหาฯนี้
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการ มฟล. ได้เป็นประธานในการจัดการประชุมเสวนาร่วมหาแนวทาง “การจัดงานเฉลิมฉลองสมโภช 750 ปีเมืองเชียงรายภาคประชาชน” ที่ห้องประชุมเชียงแสน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม
รศ.ดร.วันชัยแจ้งวัตถุประสงค์ว่า เกิดจากภาคเอกชนและสื่อมวลชนบางส่วนได้ร้องขอให้ทาง มฟล.ช่วยประสานจัดการประชุมเพื่อให้การจัดงานเฉลิมฉลองขับเคลื่อนไปได้ เพราะเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนก็จะถึงกำหนดวันที่พ่อขุนเม็งรายมหาราชหรือพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงรายครบ 750 ปีในวันที่ 26 ม.ค. 2555 นี้ หลังจากที่ทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการและคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ แล้ว
รศ.ดร.วันชัยกล่าวว่า ทุกฝ่ายก็อยากให้การเฉลิมฉลองดังกล่าวมีความเป็นรูปธรรม โดยอยากให้เปรียบเทียบกับการเฉลิมฉลองของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเขาดำเนินการแล้วได้สิ่งต่างๆ เป็นรูปธรรมที่ทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์มากมาย เช่น สนามกีฬา 700 ปีเชียงใหม่ ถนนหนทาง ฯลฯ อีกประการจะทำอย่างไรให้เชียงรายเป็นที่รู้จักของทั้งประเทศและโลก รวมทั้งทำให้งานสร้างประโยชน์สูงสุดต่อ จ.เชียงราย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ภาคประชาชน ซึ่งตนเห็นว่าด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่และช่วงเปลี่ยนรัฐบาลรวมทั้งหัวเลี้ยวหัวต่ำเรื่องปีงบประมาณจึงพอมีโอกาสที่จะทำได้อยู่
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าที่ประชุมได้ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องแจ้งผลการดำเนินการที่ผ่านมา ซึ่งนางอัมพร เรือนน้อย รักษาการวัฒนธรรม จ.เชียงราย แจ้งว่า จังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ และโครงการได้ขับเคลื่อนไปแล้วหลายเรื่อง เช่น ทำป้ายประชาสัมพันธ์ โครงการขุดลอกแม่น้ำกก โครงการเล่าขานตำนานเมืองเชียงราย จัดรถรางเล่าขานชมเมืองเชียงรายของเทศบาลนครเชียงราย หอการค้าจังหวัดก็ดำเนินโครงการสร้างเสาเล่าประวัติเมืองเชียงราย การจัดแต่งเมือง ฯลฯ
ด้านการเฉลิมฉลองก็จัดร่วมไปแล้วหลายงาน เช่น เทศกาลเชียงรายดอกไม้งามโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) งานขอบคุณพืชพันธุ์ธัญหารและสายน้ำ ฯลฯ ส่วนด้านถาวรวัตถุมีการก่อสร้างพุทธมณฑลที่ อ.แม่ลาว แต่มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2560 การสร้างอุทยานประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย ฯลฯ ขณะที่ช่วงเวลาการสมโภชก็มีการเลือกไร่แม่ฟ้าหลวง อ.เมือง เป็นสถานที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง รณรงค์แต่งกายพื้นเมือง การจัดหารายได้ ฯลฯ ซึ่งได้มีการจัดทำปฏิทินการดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค.-ม.ค.ไว้แล้ว
นายวิรุณ คำภิโล อดีตประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ 750 ปีเมืองเชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดมีการตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้มีตำแหน่งที่กำลังทำงานร่วมกันต่างโยกย้ายตำแหน่ง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ฯลฯ หลายคนกำลังทำงานเข้ากันได้ดีจึงเป็นปัญหาในการขับเคลื่อนพอสมควร
ขณะที่ นายชวลิต ฉัตรอุทุมพร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย ได้มอบเงินจำนวน 100,000 บาทเพื่อให้ มฟล.นำไปดำเนินการด้านการจัดทำ Mascot และสื่อประชาสัมพันธ์ และได้แจ้งการดำเนินการว่ามีโครงการ Big Cleaning Day โครงการจัดแต่งเมือง และโครงการ จัดทำ Mascot และสื่อประชาสัมพันธ์ ดังกล่าว
นายอภิชา ตระสินธุ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย กล่าวว่า เชียงรายมีต้นทุนทางการท่องเที่ยวทำให้มีนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละ 1.4 ล้านคนสร้างรายได้เข้าจังหวัดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และเพื่อยกระดับดังกล่าวทางภาคเอกชนได้จัดทำแผนเสนอจังหวัดไปแล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก ดังนั้น ภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันทำแผนสองด้วยการประสานท้องถิ่นเพื่อหาสถานที่สร้างนิทรรศการเล่าขานเมืองเชียงราย การจัดโปรโมชั่นเกี่ยวกับที่พักและเส้นทางท่องเที่ยวต่างๆ ให้ตรงกับเลข 750 ปี และอื่นๆ กรณีที่จังหวัดไม่สามารถขับเคลื่อนได้แล้ว
ด้าน นายประธาน อินทรียงค์ กรรมการคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือหลังจากมีคณะทำงานฝ่ายต่างๆ แล้ว แต่พบว่ามีลักษณะต่างฝ่ายดำเนินการ ไม่ได้ประสานเป็นเอกภาพ และไม่มีงบประมาณดำเนินการ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติให้ทุกฝ่ายนำรายละเอียดการดำเนินการเสนอให้ มฟล.ช่วยรวบรวมและเรียบเรียงเป็นโครงการและวิเคราะห์ด้านงบประมาณ เพื่อนำเสนอไปยังจังหวัดและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย ซึ่งมาจากระบบเขต 7 คนและบัญชีรายชื่อ 1 คนรวมเป็น 8 คน ช่วยผลักดันโดยเฉพาะด้านงบประมาณ โดยจัดทำเป็นประชาคม โดยหลังการส่งข้อมูลจะนัดประชุมกันที่ มฟล.อีกครั้งในวันที่ 13 ส.ค.นี้ต่อไป