ศูนย์ข่าวศรีราชา -มมร.แถลงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระบุเพื่อไทยมาเป็นอันดับที่ 1 พลังชลอันดับ 2 ขณะที่แชมป์เก่าประชาธิปัตย์มาเป็นอันดับที่ 3 และพบคนชลบุรีเกือบ 50 % ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร
วันนี้ (17 มิ.ย. 54) ที่โรงแรมไดอาน่าการ์เด้น รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี คณะอาจารย์จากสาขาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง มหามงกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ (มมร.)ศูนย์การศึกษาชลบุรี แถลงผลการทำโพลเลือกตั้งของจังหวัดชลบุรี โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดชลบุรี องค์กรภาคธุรกิจ และสื่อมวลชนเข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง
ดร.วันชัย จึงวิบูลย์สถิต อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์การปกครอง มหามงกุฎราชวิทยาลัย หัวหน้าทีมสำรวจเปิดเผยว่า การจัดทำโพลดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ในสาขาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง และถือเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประเทศ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของ มมร.ด้วย เหตุนี้จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น
ในการสำรวจความเห็น ได้จัดส่งนักศึกษาจำนวน 76 คน ลงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยว กับผู้สมัคร ส.ส.ในระบบเขตและบัญชีรายชื่อในพื้นที่ 11 อำเภอ ของจังหวัดชลบุรี จากการสุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,534 ตัวอย่าง ซึ่งแยกออกเป็นชายหญิงและคละเคล้าอายุกันในปริมาณที่เหมาะสม
จากการลงพื้นที่ในวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยจำแนกหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองไว้ในหลายด้าน รวมทั้งความนิยมของพรรคการเมืองต่างๆ ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย เบอร์ 1 มีอันดับผลสำรวจ คะแนนความนิยมสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัดชลบุรี โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18.70 %
อันดับที่ 2 เป็นของพรรคพลังชล เบอร์ 6 ที่ 16.60 % ส่วนอันดับที่ 3 เป็นของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ 15.20 % ขณะที่พรรคอื่นๆอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยไม่ถึง 1 % โดยในสัดส่วนนี้ยังมีผู้ที่ไม่ตัดสินใจเลือกอยู่อีก 45.60 % และไม่ประสงค์ลงคะแนน 1.12 %
ทั้งนี้ หากจะแยกออกเป็นอำเภอต่างๆ ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้อันดับที่ 1 ใน 4 อำเภอ ได้แก่ พนัสนิคม เกาะจันทร์ หนองใหญ่และเกาะสีชัง ขณะที่พลังชล ได้อันดับที่ 1 ใน 4 อำเภอเช่นกัน ได้แก่ พานทอง บางละมุง สัตหีบและศรีราชา
ส่วนประชาธิปัตย์ ได้อันดับที่ 1 ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง บ้านบึง และบ่อทอง โดยผลสำรวจดังกล่าวนั้นตามสถิติแล้วอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ประมาณ 5 %
ดร.วันชัย กล่าวต่อไปว่าสำหรับประชาชนในจังหวัดชลบุรี พบว่า 98.17 % จะออกไปใช้สิทธิ และประสงค์ลงคะแนน 90.09 % แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความสนใจการเมืองในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ส่วนผลการสำรวจดังกล่าวไม่ต้องการชี้นำหรือชักจูงให้ใครนำไปใช้เพื่อประโยชน์อันไม่พึงประสงค์ เพียงแต่ต้องการดำเนินการเพื่อให้เป็นกลไกที่สำคัญตามระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญทางสถาบันดำเนินการด้วยตนเองโดยไม่มีผู้ใดสนับสนุนทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงกันได้ เนื่องจากยังเห็นว่า มีผู้ที่ไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใดอยู่มากถึง 45.60 % จึงเป็นหนทางหนึ่งที่พรรคต่างๆต้องหาวิธีในการสร้างแรงจูงใจในช่วงเวลาที่เหลือจากนี้