ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผลถกอธิบดีป่าไม้-ผู้ว่าฯ โคราช-กอ.รมน.ภาค 2 เห็นร่วมเดินหน้าเชือดรีสอร์ตบ้านพักหรูนายทุนรุกป่าวังน้ำเขียวโคราชตาม กม. เพื่อทวงคืนผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ยันชาวบ้านไม่เดือดร้อน ผู้ว่าฯ โคราชเผยไม่ให้อธิบดีป่าไม้ลงพื้นที่หวั่นไม่ปลอดภัยถูกล้อมทำร้าย แฉมีนายทุน นักการเมืองอยู่เบื้องหลังใช้ชาวบ้านเป็นโล่มนุษย์ ระบุหาแนวทางเยียวยา ปชช.ที่เดือดร้อนอยู่แล้ว ขณะอธิบดีป่าไม้ ลั่นดำเนินคดีทั้งอาญา แพ่ง และ กม.สิ่งแวดล้อมทุกรายที่รุกป่า ขณะที่ กมธ.วุฒิสภาลงลุยตรวจรีสอร์ตวังน้ำเขียวฮุบอุทยานฯ ทับลาน
วันที่ 4 ส.ค. เมื่อเวลา 11.30 น. ภายหลังประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ห้องรับรอง เปรม ติณสูลานนท์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการบุกรุกป่า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา แล้วเสร็จ นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อม นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, พล.ท.ชาสร วายโสกา รองแม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะรอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 2 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนดีเอสไอ, ป.ป.ท. ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่ห้องมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ประเด็นใหญ่เรื่อง อ.วังน้ำเขียว อธิบดีกรมป่าไม้ มีความห่วงใยเรื่องการบุกรุกที่ป่า และอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็เช่นเดียวกัน รวมถึงกับทาง ส.ป.ก.ก็ห่วงใยการบุกรุกป่าและการใช้ที่ดินผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์ หรือการเปลี่ยนมือ วันนี้ถือเป็นความเสียสละอย่างยิ่งของอธิบดีกรมป่าไม้ที่เดินทางมา จ.นครราชสีมาเอง ซึ่งความจริงตนไม่อยากให้อธิบดีมาเพราะกลัวจะมีเหตุไม่เข้าใจกันและมีการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่อธิบดีฯ บอกว่าไม่กลัวเพราะทำตามกฎหมาย
ฉะนั้น แม้ตนจะกลัวม็อบก็ต้องเปิดศาลากลางจังหวัดฯ ต้อนรับใช้เป็นสถานที่ประชุมร่วมกันแทนที่จะเป็นที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) เพราะการดำเนินการของอธิบดีกรมป่าไม้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ต้องการให้ข้าราชการทั้งมวลมาช่วยกันอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรป่าไม้
ทั้งนี้ จากหารือกันระหว่าง 3 ภาคส่วน คือ กรมป่าไม้ อุทยานฯ และส.ป.ก. ร่วมกับทาง จังหวัด, กอ.รมน.ภาค 2, ตำรวจ และอัยการ ในวันนี้ได้ข้อสรุปในการทำงานร่วมกันว่า เราจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อนำมาซึ่งผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และเขต ส.ป.ก. ที่ ส.ป.ก.ยังไม่ได้จัดสรรให้เกษตร หรือ เขต ส.ป.ก.ที่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ เปลี่ยนมือ โดยเราจะดำเนินการร่วมกันทั้งหมด ในสาระสำคัญข้อกฎหมายต่างๆ และในขั้นตอนของการดำเนินการ ทางจังหวัดฯ ทหาร ตำรวจก็จะเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯในการทำงานเรื่องนี้
นายระพีกล่าวต่อว่า ในกรณีที่ประชาชนชาววังน้ำเขียวต้องการให้อธิบดีกรมป่าไม้ลงพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวเพื่อร่วมพูดคุยหาทางออกร่วมกับประชาชนนั้น ตนเป็นคนเสนอท่านอธิบดีฯ ว่าไม่ต้องลงไป เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีความปลอดภัย เพราะในความเป็นจริงมันมีกลุ่มนายทุน นักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ในการใช้ประชาชนมาเป็นโล่มนุษย์ ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเกิดการทำร้ายอธิบดีและเจ้าหน้าที่ได้ ฉะนั้นมีเรื่องข้อมูลอะไรทางจังหวัดฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะประสานงานกันและเข้าไปพูดคุยกันที่กรุงเทพฯ จะดีกว่า
สำหรับกรณีความเดือดร้อนของชาวบ้านและข้อเรียกร้องไม่ให้ใช้กฎหมายดำเนินการต่อผู้บุกรุกป่านั้น ขอเรียนว่าไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนไหนที่อยากจะจับประชาชนของตัวเอง แต่ความสงบสุขของทุกคนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน หากกระทำผิดก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมายไม่สามารถยกเว้นได้ไม่เช่นนั้นทั้งผู้ว่าฯ ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะถูกสอบสวนเอาผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ส่วนความเดือดร้อนของประชาชน เกษตรกรที่ทำมาหากินโดยสุจริตทางภาครัฐ ก็จะให้การช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบซึ่งมีหนทางทำได้อยู่แล้ว
นายระพีกล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางการพัฒนา อ.วังน้ำเขียว ในด้านการท่องเที่ยว ที่ประชาชนและผู้ประกอบการเรียกร้องนั้น พื้นที่ป่าทั้ง 3 ส่วนใน อ.วังน้ำเขียว มีความชัดเจนตามกฎหมายอยู่ในตัวของมันอยู่แล้วว่า ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ต้องเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ส่วน ส.ป.ก.ก็ต้องเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนดไม่สามารถกลายเป็นอย่างอื่นไปได้
ด้าน นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เราจะทำงานกันเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ในการเอาผืนป่าคืนมาเป็นหลังคาของโคราช ซึ่งมาวันนี้ทำให้รู้สึกว่า กรมป่าไม้ไม่โดดเดี่ยว และเพื่อนข้าราชการทุกภาคส่วนได้ดำเนินการภายใต้แนวพระราชดำริที่ช่วยกันดูแลป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่งของประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ตนคิดว่าหากที่อื่นๆในประเทศเราเป็นอย่างนี้ก็คิดว่าป่าไม้เราจะกลับคืนมาแน่นอนภายในเวลาอันไม่ยาวนานนี้ ซึ่งต้องการแค่ 40% ของพื้นที่เท่านั้นคิดว่าจะเอาคืนมาได้ แม้แต่ ส.ป.ก.เองวันนี้ก็ยินดีกรณีพื้นที่บางพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแก่การเกษตรก็จะคืนให้กรมป่าไม้ เพื่อให้จังหวัดฯ ไปทำการฟื้นฟูเป็นป่า ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีทุกส่วนราชการที่ได้ร่วมมือร่วมใจกัน
ตนในฐานะที่ดูแลรักษาป่าตามอำนาจหน้าที่ รู้สึกชื่นชมและดีใจว่าทุกภาคส่วนเข้าใจในการทำงานของกรมป่าไม้ และหวังว่าอยากให้ทุกพื้นที่เข้าใจและให้ความร่วมในการดำเนินงานลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ส.ป.ก. เราดูแลทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ของประเทศชาติ ทำผิดถูก ชอบไม่ชอบ ก็มีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนที่ดูแลหรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินตรงนั้น ฉะนั้น หาก 3-4 หน่วยงานนี้ร่วมมือและจับมือกันทำงานในอำนาจหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส สะอาดตนคิดว่า ประเทศไทยสามารถที่จะดำเนินการไปได้ภายใต้ความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแน่นอน
นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ตนไม่เคยกล่าวหาประชาชน ชาว อ.วังน้ำเขียวเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า เพียงแต่บอกว่า ป่าวังน้ำเขียวถูกบุกรุกทำลาย ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โปร่งใส เป็นธรรม ตรงไปตรงมา และถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ในการรักษาป่าที่คนไม่ดีบุกรุกป่าต้องได้รับโทษ โดยตนไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ซึ่งการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกนั้นทางกรมป่าไม้จะดำเนินการทั้งความผิดทางอาญา ทางแพ่ง และดำเนินคดีตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
สำหรับรีสอร์ตทั้ง 22 แห่งในบริเวณเขาแผงม้า บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ที่จะดำเนินการในล็อตแรกนั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการขอหมายศาลเข้าตรวจค้น หากศาลจังหวัดสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา อนุมัติหมายศาลออกมาก็พร้อมจะเข้าไปดำเนินการตรวจค้นทันที เพื่อแจ้งความดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป เนื่องจากได้เตรียมเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจไว้พร้อมทั้ง 6 ชุดแล้ว และแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจนไว้หมดแล้ว ส่วนพื้นที่อื่นทั่งประเทศก็จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมทั้งหมด โดยให้เจ้าหน้าที่รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการมายังกรมทุก 2 เดือน
“การดำเนินการกับรีสอร์ตผู้บุกรุกทั้ง 22 รายดังวกล่าว ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่และไม่จำเป็นต้องอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนแต่อย่างใด” นายสุวิทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงท้ายของการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.นครราชสีมา และนายจงกล สระเจริญ นายก อบต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ได้เป็นตัวแทนของประชาชนชาว อ.วังน้ำเขียว ที่เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่บริเวณประตูทางขึ้นศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้กับนายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าวังน้ำเขียวที่ไม่ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่
ด้าน นายประเสริฐ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ล่าสุด ส.ป.ก.นครราชสีมาได้ทำการสำรวจตรวจสอบการใช้ประโยชน์และการเปลี่ยนมือ ที่ดิน ส.ป.ก.ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ไปแล้วจำนวน 114 แปลง ปรากฏว่า มีการสร้างบ้านพัก รีสอร์ตในที่ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนจำนวน 13 แห่ง ซึ่งได้แจ้งให้เกษตรกรเจ้าของที่ดิน ส.ป.ก. และเจ้าของรีสอร์ตบ้านพักมาชี้แจงและให้ทำการรื้อถอนเพื่อปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ส่วนที่เหลือทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
เมื่อเวลา 14.30 น.วันเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภากว่า 10 คน นำโดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ประชุมรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง รวมถึงเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และพื้นที่ ส.ป.ก. อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยมีตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง ป่าไม้, อุทยานฯ, ส.ป.ก., ตำรวจ และประชาชน รวมถึงกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าเข้าร่วมชี้แจงรายงานข้อมูล
จากนั้นคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพการบุกรุกป่า โดยเดินทางไปที่ตรวจสอบแนวเขตอุทยานทับลาน ที่บ้านบุไทร ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียวก่อนเป็นจุดแรก จากนั้นเดินทางต่อไปยังการติดป้ายคำสั่งอุทยานฯ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากเขตอุทยานทับลานที่รีสอร์ต อิม ภูฮิลล์ บ้านคลองกระทิง ต.ไทยสามัคคี
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า จาการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ พบว่า ปัญหาของ อ.วังน้ำเขียวแบ่งออกเป็น 2 ปัญหาใหญ่ ซึ่งต้องแยกให้ชัดเจน คือ 1.ปัญหาการดำเนินการต่อผู้บุกรุกกลุ่มนายทุนที่สร้างบ้านพักรีสอร์ตในเขตป่าสงวน เขตอุทยาน และ ส.ป.ก. ซึ่งมีกฎหมายที่จะต้องดำเนินการชัดเจนอยู่แล้ว 2. ปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องความชัดเจนในเรื่องสิทธิ์ครอบครองที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จมานานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะได้สรุปผลการศึกษาทั้งหมดเสนอให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการแก้ไขเป็นผลงานชิ้นแรกของรัฐบาลต่อไป