ศูนย์ข่าวขอนแก่น -วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น จับมือ 4 เทศบาลใหญ่ในขอนแก่น เดินหน้าอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสาน ก่อนเสนอตัวเข้าชิงรางวัลวิจัยเพื่อฟื้นฟู พัฒนา และอนุรักษ์วัฒนธรรมจากสหภาพยุโรป
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นประธานในการลงนามความร่วมมือระหว่าง เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองพล เทศบาลเมืองชุมแพ เทศบาลเมืองบ้านไผ่ และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งแผนการดำเนินงานร่วมกันตามโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสาน ภายหลังพบว่าวัฒนธรรมหลายอย่างในพื้นที่ภาคอีสานกำลังที่จะหายไป และขาดการสานต่อทางวัฒนธรรมของกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป
รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงบันทึกข้อตกลงตามความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยฯและเทศบาล ชั้นนำทั้ง 4 แห่งของ จ.ขอนแก่น ดังกล่าว ว่า เป็นแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนที่คณะผู้บริหารทุกฝ่ายมีมติร่วมกันในการที่จะร่วมกันสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่น
ที่ผ่านมา วิทยาลัยได้ส่งนักวิจัยและนักศึกษาทำการจัดเก็บข้อมูลก่อนนำเสนอเพื่อเข้ารับประเมินแผนการดำเนินงานจากสหภาพยุโรป หรือ อียู จากการสมัครเข้ารับทุนวิจัยเพื่อฟื้นฟู พัฒนาและอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น จากกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย ทั้ง 97 ประเทศ ซึ่ง อียู ตอบกลับมาแล้วว่าประเทศไทย โดยวิทยาลัยฯและเทศบาลทั้ง 4 แห่งเป็น 1 ใน 18 องค์กรที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก
รศ.ดร.พีรสิทธิ์ กล่าวว่า วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอีสานนั้นมีอย่างมากมาย หากมองเฉพาะในด้านภาษา จะเห็นได้ว่า กำลังที่จะเลือนหายไปด้วยวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ที่คุกคามเข้ามา จากนี้ไปไม่ถึงร้อยปี เชื่อได้ว่า ภาษาของภาคอีสาน หรือที่เราเรียกกันว่า ภาษาไทยน้อย นั้น ซึ่งมีมากกว่า 6,000 ภาษา จะหายไป ยังคงไม่นับวัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้านที่ยังคงมีการสานต่อเฉพาะกลุ่มคนและบางหน่วยงานเท่านั้น
ทั้งนี้ หากปล่อยให้การดำเนินงานไปอย่างล่าช้า วัฒนธรรมอีสานที่แท้จริงนั้นจะจางหายไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นแผนการดำเนินนำร่องร่วมระหว่าง 4 เทศบาลชั้นนำของขอนแก่นกับวิทยาลัยฯ นอกจากการจะนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาแสดง และจารึกไว้ให้กับประชาชนได้รับรู้และร่วมสานต่อขนบธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว ยังคงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านของการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชูจุดเด่นของชุมชนมาแสดงให้กับนักท่องเที่ยวได้รับทราบ
นายสมเกียรติ ดีบุญมี ณ ชุมแพ นายกเทศมนตรีเมืองชุมแพ กล่าวว่า การดำเนินงานต่อจากนี้ไปคือการเดินหน้าตามแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งการติด 1 ใน 18 องค์กรที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกนั้น สหภายุโรปจะมีการส่งเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการมาทำการประเมิน ผลการดำเนินงาน ซึ่งจุดเด่นทางวัฒนธรรมที่ เทศบาลทั้ง 4 แห่งมีอยู่แล้วและมีผลงานดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ประติมากรรมสีโห วรรณกรรมสินไซ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอีสาน โฮม มูล มัง เมืองโบราณบ้านโนนเมือง
รวมไปถึงวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่ทุกเทศบาล และหน่วยงานท้องถิ่นได้สืบสานและอนุรักษ์ไว้ในพื้นที่ มั่นใจว่า การร่วมมือร่วมใจของเทศบาลทั้ง 4 แห่ง และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ซึ่งจะจัดส่งทีมนักวิจัยฟื้นฟูเข้ามาในพื้นที่จะสามารถทำให้ผลการทำงานในภาพรวมทั้งหมด ผ่านการประเมินและได้รับการคัดเลือกจากสหภาพยุโรปในที่สุด