แพร่ - พื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำยม ยังท่วมหนัก ถนนหลายเส้นทางในจังหวัดแพร่ใช้การไม่ได้ ชาวบ้านรอคอยช่วยเหลือจังหวัดไปไม่ถึง ภาคประชาสังคมตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ ว่า จนถึงขณะนี้ (2 ส.ค.) พายุ “นกเตน” ยังส่งผลกระทบ ทำให้น้ำท่วมจังหวัดแพร่เป็นบริเวณกว้างในหลายอำเภอ ตั้งแต่ อ.หนองม่วงไข่ อ.เมือง อ.สูงเม่น อ.เด่นชัย อ.ลอง และ อ.วังชิ้น ถูกน้ำท่วมอย่างถ้วนหน้า ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำบ้านน้ำโค้ง ต.ป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ เพิ่มขึ้นสูงเกิน 10.14 เมตรแล้ว
ซึ่งระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายชุมชนมีน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ไม่ว่าจะเป็นชุมชนบ้านหัวดง ชุมชนบ้านใหม่ ชุมชนเชตะวัน เขตเทศบาลเมืองแพร่ ชุมชนบ้านทุ่งกวาว ต.ทุ่งกวาง ต.ป่าแมต อ.เมือง
นอกจากนั้น ยังมีรายงานน้ำท่วมเขต อ.สูงเม่น ที่บ้านสบสาย บ้านหาดลี่ บ้านวังวน ต.สบสาย และ ต.ทุ่งแล้ง อ.ลอง ก็มีระดับน้ำสูงมาก โดยเฉพาะหมู่ที่ 11 ต.ทุ่งแล้ง ไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปให้การช่วยเหลือ
ทั้งยังพบว่า ระดับน้ำเข้าท่วมหลายหมู่บ้านสองฝั่งแม่น้ำยมในพื้นที่ อ.วังชิ้น แล้วโดยรถยนต์ไม่สามารถผ่านไปหน้าอำเภอวังชิ้นได้เลย เส้นทางสายหลักไม่สามารถใช้การได้แล้ว คือทางหลวงหมายเลข 11 จากอำเภอเด่นชัย เข้าสู่ อ.ลอง อ.วังชิ้น ไม่ได้ เส้นทางสาย แพร่-ลอง ไม่สามารถผ่านได้แล้ว ทั้งยังมีปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ เนื่องจากขาดเรือท้องแบบในการเข้าช่วยเหลือได้เพียงพอ
จากอุทกภัยดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถออกจากหมู่บ้านมาหาซื้ออาหารและน้ำดื่มได้เกิดความขาดแคลนอย่างหนัก สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่ถูกน้ำท่วมและร้องขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่มีใครเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
แม้ นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้สั่งการให้อาสาสมัคร ทหารค่ายม.พัน 12 เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ หมู่บ้าน พร้อมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แต่การช่วยเหลือก็ยังคงล่าช้า
นายอำนวย พลหล้า ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า การช่วยเหลือของทางราชการน่าสนใจที่ออกช่วยเหลืออย่างเต็มที่แต่ไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นธรรมดาที่ทางราชการไม่มีการวางแผนที่ดีพอ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านคงรอการช่วยเหลือไม่ได้ คงต้องช่วยเหลือตัวเอง เครือข่ายภาคประชาชนโดยเฉพาะสภาองค์กรชุมชน 34 ตำบล กลุ่มประเด็นปัญหาต่างๆ ที่รวมตัวกันทำงานแก้ปัญหา เช่น เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เครือข่ายเยาวชนรักถิ่น กลุ่มศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายสื่อสาธารณะ วิทยาลัยชุมชนจังหวัดแพร่ ได้เปิดจุดร้องเรียนปัญหาความทุกข์ที่เกิดจากน้ำท่วม เรียกว่า “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือภัยพิบัติภาคประชาชน จังหวัดแพร่” โดยมีศูนย์อยู่ที่ อาคารบุญนาค ชั้น 1 ห้องกลุ่มงานเชื่อมโยงเครือข่ายฯ วิทยาลัยชุมชนจังหวัดแพร่
ศูนย์ดังกล่าวจะรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่ประสบภัยพิบัติในครั้งนี้ ทั้งเรื่องเฉพาะหน้า เช่นไม่มีใครไปส่งข้าวส่งน้ำจะมีน้ำและอาหารไปช่วย และปัญหาระยะยาวเช่นความเสียหายบ้านเรือ ที่ทำกิน พืชผลเกษตร