xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มเมืองลุงหัวใสคิดค้นสปริงรองจอกยางพาราสร้างอาชีพเสริมให้ชุมชนทำรายได้มหาศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - หนุ่มพัทลุงคิดค้นเครื่องประดิษฐ์ที่ตั้งจอกรองรับน้ำยาง แบบห่วงรัดต้นยางแบบสปริง สามารถขยายตัวตามอายุความเติบโตของต้นยาง เป็นอาชีพเสริมให้คนในชุมชนและสร้างรายได้มหาศาลเป็นที่ต้องการของตลาดจนผลิตไม่ทัน

“ผมต้องการให้เป็นอาชีพเสริมกับชุมชนในหมู่บ้านภายหลังที่ทำงานหลักเสร็จกันแล้ว โดยเฉพาะการกรีดยางพารา และอาชีพอื่นๆ โดยใช้เวลามาทำงานเสริมกัน บางวันมีรายได้ถึงวันละ 1,000 บาท ก็มี แต่ขั้นต่ำวันละ 250 บาท - 300 บาท และ 400 - 500 บาทได้แน่นอน” คุณสุทัศน์ สมันนุ้ย กล่าวถึงอาชีพใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นายสุทัศน์ สมันนุ้ย อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 288 หมู่ 8 บ้านควนปาบ ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ผู้คิดค้นเครื่องประดิษฐ์ผลิตที่ตั้งจอกเพื่อรองรับน้ำยางพารา กล่าวว่า ได้เริ่มต้นคิดค้น“ห่วงรัดต้นยางพาราแบบสปริง” มาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน มีทั้งหมดจำนวน 3 เครื่อง เครื่องที่สำคัญที่สุด คือทำห่วงหรือบิดห่วง และเครื่องรองลงมา เครื่องทำสปริง และเครื่องติดลวด ทั้ง 3 เครื่องใช้ทดแทนกับการใช้กำลังคนที่ทำด้วยมือ เพราะการทำด้วยมือในการทำดัดเหล็กจะทำยากและเจ็บปวดมือ อีกทั้งล่าช้ามากไม่ทันกับความต้องการ

“ผมใช้เวลาลองผิดลองถูกประมาณมา 3 เดือน ในการคิดค้นปฏิบัติการทดลองอยู่ จนประสบกับความสำเร็จ การผลิตห่วงรัดต้นยางพาราแบบสปริงชนิดนี้ เป็นอัตโนมัติ มันจะขยายตัวตามอายุความเติบโตของต้นยางพารา โดยจะไม่ต้องปรับเปลี่ยนใช้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นกรีดยาง จนถึงอายุในการโค่นต้นยางพารา ลงทุนครั้งเดียวใช้งานได้ตลอด โดยที่ผ่านมาผลิตกันด้วยมือ และไม่มีสปริงที่รองรับการขยายตัวเติบโตของต้นยางพารา และต่อไปก็จะทำการพัฒนาในการผลิตมีดกรีดยางพารา จอกยางพาราด้วย”

อุปกรณ์การประดิษฐ์เครื่องจักรทั้ง 3 เครื่อง ก็เอาจากเศษเหล็กที่เป็นอะไหล่จักรยายนต์ที่เขาไม่ใช้แล้ว หรือเป็นเศษเหล็กที่ชั่งกิโลขาย มาประดิษฐ์ซึ่งองค์ประกอบของชิ้นส่วนในการผลิตมี ชุดเกียร์ ฟันเฟือง โซ่ คราส ข้อเหวี่ยง พวงราวลิ้น ไดสตาร์ท เป็นต้น ส่วนตัวห่วงรัดต้นยางพาราแบบสปริง ใช้เหล็กลวดขนาด เบอร์ 18 ส่วนตัวห่วงใช้เหล็กลวด เบอร์ 13 และ 14

“ในประเทศไทย เชื่อว่าเป็นรายแรกที่ผลิตห่วงรัดต้นยางพาราแบบสปริง เพราะที่ผลิตกันในขณะนี้หรือที่ผ่านมาเขาจะผลิตด้วยมือคนกันและไม่มีสปริงรองรับการขยายตัวเติบโตของต้นยางพารา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนสิทธิบัตร กับกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์อยู่”

นายสุทัศน์ ยังอีกบอกว่า ต้นทุนการผลิตเครื่องจักรประมาณจากอะไหล่เศษเหล็กรถจักรยายนต์ของเก่า ต้นทุนจึงลดไปเป็นจำนวนมาก เหลือประมาณ 20,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น ชุดเกียร์อัตโนมัติประมาณกว่า 10,000 บาท แต่เมื่อซื้อเป็นเศษเหล็ก เหลือประมาณ 18 - 20 บาท / กก. ต้นทุนการผลิตจึงห่างกันมากระหว่างอะไหล่ใหม่กับอะไหลเก่า

การผลิตงานของเครื่องจักรเครื่องจักรผลิตห่วงรัด สามารถผลิตได้ประมาณ 20,000 ชุด ต่อวันในขณะที่ใช้กำลังคนสามารถผลิตได้สูงสุดประมาณ 1,000 ชุดต่อวันต่อคน ส่วนทางด้านราคาซึ่งที่เขาจำหน่ายกันปลายทางราคาสูงสุด ประมาณ 5 บาทต่อชุดสรุปแล้วสามารถทำเงินได้ประมาณ 100,000 บาทต่อวัน

ทางด้านการตลาดนั้นมีคำสั่งซื่อมาจากทั่วประเทศ ทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออกโดยเฉพาะมีคำสั่งซื้อมามากที่สุดจากทางภาคอีสาน และภาคเหนือ บางรายสั่งซื้อถึง 300,000 - 400,000 ชิ้น ตอนนี้ทางด้านการตลาดมีคำสั่งซื้อ จนไม่สามารถที่จะผลิตได้ทันตามความต้องการส่วนใหญ่เจ้าของสวนยางพารา และพ่อค้ามาสั่งซื้อเอง

“ปัจจุบันการผลิตก็ใช้คนภายในครัวเรือน ญาติพี่น้องในชุมชนหมู่บ้าน สำหรับตนเองก่อนที่จะมาผลิตเครื่องจักรห่วงรัดต้นยางพาราแบบสริง ก็ทำงานทางด้านโปรดักชั่น ครีเอทีฟ มาก่อน” นายสุทัศน์ บอกเล่า และเขายังบอกต่ออีกว่า หากสนใจ โทร.080 872 - 8613


กำลังโหลดความคิดเห็น