อุบลราชธานี - นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ประกาศเตือนประชาชนที่เดินเหยียบย่ำน้ำเป็นเวลานาน ระวังเชื้อแบคทีเรียจากฉี่หนูเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว เป็นไข้ ตัวร้อน รีบพบแพทย์อย่าปล่อยให้อาการลุกลาม เพราะถ้าเชื้อเข้าสู่สมอง ไต ทำให้เสียชีวิตได้ และมักพบผู้ป่วยเพิ่มในช่วงหน้าฝน
นพ.สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้มีฝนตกลงมาในพื้นที่ทำให้มีน้ำท่วมขัง และเป็นฤดูกาลเพาะปลูกพืชผล รวมทั้งทำนาปีของเกษตรกร ทำให้มีการเดินเหยียบย่ำน้ำในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู โดยสถิติระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูต่อเนื่องแล้ว 18 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต และจะพบผู้ป่วยหนาแน่นระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปี
โดยเดือนกรกฎาคมปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 3 ราย ในพื้นที่ตามอำเภอชายแดน การระบาดมีหนูเป็นพาหนะ เมื่อเชื้อแบคทีเรียในฉี่หนูปนเปือนในน้ำที่ขัง ทำให้ผู้ที่เดินย่ำน้ำด้วยเท้าเปล่าเป็นเวลานานรับเชื้อเข้าไป ทำให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ เมื่อมาพบแพทย์ทันทีสามารถทำให้หายป่วยได้
แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจนมีอาการหนักจะมีอาการตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ ถ้าเชื้อเอาสู่สมองทำให้มีอาการเพ้อ หากเชื้อเข้าสู่ไตจะทำให้ไตวายจนเสียชีวิต
ปัจจุบันจากสถิติของสำนักระบาดวิทยาพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2554 จำนวน 1,209 ราย เสียชีวิต 14 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคอีสานถึงร้อยละ 69 โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จ.บุรีรัมย์ 168 ราย รองลงมาเป็น จ.ศรีสะเกษ 154 ราย อาชีพของผู้ป่วยมากที่สุดคือ เกษตรกรจำนวน 652 ราย และมีแนวโน้มการระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝนของทุกปี