ตาก - ฝ่ายปกครอง-อปท.ตาก เรียงหน้ายัน แม้เปลี่ยนขั้วรัฐบาล แผนบูม “แม่สอด” ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษยังเดินหน้าต่อ รับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ-การค้าในอนาคต ผู้ว่าฯ ย้ำหนุนเก็บภาษีต่างด้าวบำรุงท้องที่ จวกแนวทางแก้แรงงานเถื่อนไร้ผล แถมสร้างปัญหาเพิ่ม
รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ร่วมกับนายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่เขตเทศบาลนครแม่สอด องแม่สอด จ.ตาก โดยกล่าวถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจนครแม่สอด และการพัฒนาศักยภาพทางการค้าและการลงทุนชายแดนไทย-พม่า และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพื่อพัฒนาให้นครแม่สอดเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างเป็นระบบ
นายสามารถระบุถึงแนวทางการเดินหน้าสานต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ฝ่ายปกครองจังหวัดตาก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ก็จะสานต่อและร่วมกันสร้าง “นครแม่สอด” ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจการค้าชายแดน-การส่งเสริมการลงทุน เพราะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นและประเทศชาติ ที่จะรองรับการเจริญเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งระบบ รองรับเปิดเขตการค้าเสรี ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community -AEC และการเป็นประตูการค้าบนระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC)
ผู้ว่าฯ ตาก ระบุอีกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด คืบหน้าไปมาก รัฐบาลได้เร่งดำเนินโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือกับพม่า ทั้งการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2, โครงการความร่วมมือการก่อสร้างถนนเส้นทาง แม่สอด-เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรีและกอกาเรก งบประมาณนับ 1,000 ล้านบาท ที่จะเป็นเส้นทางรองรับ EWEC นอกจากนี้ ไทย-พม่ายังมีโครงการร่วมกันคือโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย กว่า 60,000 ล้านบาท ที่จะเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจกับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและ EWEC รวมทั้งเส้นทางถนน 4 เลนไทย-พม่าที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ตาก นอภ.แม่สอด นายกเทศมนตรีนครแม่สอด ยังได้ประชุมร่วมผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนไทย-พม่า (อ.แม่สอด-แม่ระมาด-พบพระ-ท่าสองยาง และ อ.อุ้มผาง) กว่า 200 คนที่ห้องประชุมศูนย์การท่องเที่ยวและแสดงสินค้าเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้ส่วนราชการและท้องถิ่น ได้บูรณาการและระดมความคิดเห็นในการพัฒนาท้องถิ่นและร่วมบริหารจัดการในแนวทางการพัฒนาในรูปแบบความร่วมมือของทุกภาคส่วน
โดยมีโครงการที่จะดำเนินการร่วมกัน คือ 1.โครงการการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ของท้องถิ่น 2.การร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยให้ “นครแม่สอด” เป็นโมเดล รวมทั้งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด 3.โครงการรักษ์ป่า-รักษ์น้ำ และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ในพื้นที่ทรงงานฯ และ 4.โครงการการก่อสร้างมหาวิทยาลัยนานาชาติที่นครแม่สอด
โอกาสนี้ นายสามารถกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของรัฐบาล 5-6 ปีที่ผ่านมา ยังย่ำอยู่กับที่ ปัญหาไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทั้งยังสร้างและเพิ่มปัญหาให้กับพื้นที่ชั้นในและพื้นที่ชายแดน เขาเชื่อว่าการกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีแรงงานต่างด้าว บำรุงท้องที่ในพื้นที่ชั้นใน-ชั้นนอก จะทำให้เอกซเรย์ตรวจสอบแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่จริงในพื้นที่ว่ามีปริมาณเท่าไรได้ชัดเจนขึ้น