ศูนย์ข่าวศรีราชา - กองทัพเรือไทย ส่งหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด ชุดที่ 2 กำลังพล 368 นาย เข้าร่วมกับกองกำลังนานาชาติ ปราบโจรสลัดโซมาเลีย อ่าวเอเดน
วันนี้ (12 ก.ค.) พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เป็นประธานในพิธีส่งหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด ( มปจ.) ชุดที่ 2 ณ ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเรือเอก ณรงค์ เทศวิศาล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และนายทหารผู้ใหญ่ ให้การต้อนรับ พร้อมเชิญขึ้นแท่นพิธีตรวจพลสวนสนาม และกระทำพิธีส่งเรือหลวงสิมิลัน เรือหลวงนราธิวาส และกำลังพลจำนวน 368 นาย เข้าร่วมกับกองกำลังนานาชาติในการแก้ไขปัญหาโจรสลัดที่เกิดขึ้นภายในน่านน้ำโซมาเลีย และมหาสมุทรอินเดีย
ปัญหาดังกล่าวเนื่องจากโจรสลัดมีการปล้นเรือสินค้า เรือบรรทุกสารเคมีขนาดใหญ่ เรือประมงน้ำลึกของประเทศญี่ปุ่น ไนจีเรีย เยอรมนี ฝรั่งเศส อียิปต์ ฮ่องกง ยูเครน มาเลเซีย ปานามา ตุรกี เดนมาร์ก ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และเรือสินค้าของประเทศไทย ที่ต้องรับผลกระทบ อันส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในเรื่องของการส่งสินค้าทางทะเล การประมงนอกน่านน้ำของไทย และนานาประเทศเป็นอย่างมาก จึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลไทยได้เห็นชอบอนุมัติให้กองทัพเรือไทยส่งเรือหลวงสิมิลัน และเรือหลวงนราธิวาส เดินทางไปสนธิกำลังร่วมกับกองกำลังผสมนานาชาติปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย
และในโอกาสนี้ได้นิมนต์พระครูวิบูล ธรรมบาล เจ้าอาวาสวัดสัตหีบ และที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสัตหีบ พร้อมพระสงฆ์รวม 10 รูป มาทำการสวดเจริญพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่กำลังพล เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กำลังพลที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้
พลเรือเอก กำธร กล่าวว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาโจรสลัดโซมาเลีย ทำให้เกิดความสูญเสียต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และความไม่ปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน รัฐบาลไทย ได้เห็นชอบให้กองทัพเรือจัดหมู่เรือเข้าร่วมเป็นครั้งที่ 2 โดยส่งเรือหลวงสิมิลัน และเรือหลวงนราธิวาส ซึ่งเป็นเขี้ยวเล็บของกองทัพเรือไทย พร้อมเฮลิคอปเตอร์ แบบเบลล์ 212 ชุดซีลทีมจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ และกำลังพลประจำเรือจำนวน 368 นาย
โดยมี นาวาเอก ธานินทร์ ลิขิตวงศ์ รองเจ้ากรมยุทธการทหารเรือ เป็นผู้บังคับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด (มปจ.) และนาวาเอก ภราดร พวงแก้ว ผู้อำนวยการกองยุทธการ กองเรือยุทธการ เป็นหน่วยเรือปราบปรามโจรสลัด (นปจ.) นำหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดเดินทางไปปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังผสมนานาชาติจัดระเบียบทางทะเลให้ปลอดภัย และสกัดกั้นการกระทำอันเป็นโจรสลัด ณ อ่าวเอเดน น่านน้ำชายฝั่งโซมาเลีย และมหาสมุทรอินเดีย โดยเรือจะเดินทางผ่านประเทศสิงคโปร์ โคลัมโบ (ศรีลังกา) ซาลาลา (โอมาน) ระยะทาง 4,894 ไมล์ทะเล ใช้เวลาในการเดินทาง20วันมีระยะเวลาในการปฎิบัติการในพื้นที่140วัน
จากข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 กลุ่มโจรสลัดโซมาเลียได้มีการตั้งฐานปฎิบัติการที่รัฐ PUNTLAND ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศ มีสมาชิกมากว่า 1,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มมาก กว่า 10 กลุ่ม มีอาวุธที่ใช้ในการปล้น เช่น ปืนกล AK-47S จรวด RPG วิทยุติดต่อ Walkie talkie และโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม เรือควบคุมการปฏิบัติการที่อาจแฝงมากับเรือต่างๆ บรรทุกเรือยนต์เร็วออกไปปฏิบัติการในทะเล
ล่าสุดเกิดความฮึกเหิมปฏิบัติการปล้นและจับยึดเรือสินค้าในบริเวณอ่าวเอเดนมากกว่า 30 ลำ บางวันปล้นเรือหลายลำ และจับลูกเรือเป็นตัวประกันนับร้อยคน จนกระทั่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีมติเรื่องการกระทำอันเป็นโจรสลัด ให้ประเทศสมาชิกคณะมนตรีให้ความร่วมมือในการลาดตระเวนดูแลพื้นที่ในน่านน้ำโซมาเลีย และสามารถใช้มาตรการที่เห็นสมควรจัดการกับกลุ่มโจรได้ตามดุลพินิจอีกด้วย ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากโจรสลัดโซมาเลีย เพราะเรือสินค้าไทยเคยถูกกระทำเหมือนกับประเทศอื่นๆ จึงได้ส่งเรือรบและกำลังพลเข้าร่วมในครั้งนี้เป็นเวลา 140 วัน
รัฐบาลไทย มอบหมายกองทัพเรือ จัดหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดชุดที่ 2 โดยส่งเรือหลวงสิมิลัน และเรือหลวงนราธิวาส พร้อมเฮลิคอปเตอร์ แบบเบลล์ 212 ชุดซีลทีมจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ และกำลังพลรวม 368 นาย เข้าร่วมกองกำลังนานาชาติ ปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย อ่าวเอเดน รวมระยะเวลา 140 วัน