xs
xsm
sm
md
lg

เทศบาลนาหมอม้าร่วมอนุรักษ์วิถีหมู่บ้านหมอรักษาม้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทศบาลตำบลนาหมอม้าและชาวจ.อำนาจเจริญ จัดงานประเพณีขี่ม้า เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และเผยแพร่สายพันธุ์ม้าไทย
อุบลราชธานี- เทศบาลตำบลนาหมอม้า และชาว จ.อำนาจเจริญ จัดงานประเพณีวิถีคนกับม้าไทย หวังเผยแพร่การนำม้ากลับมาใช้เหมือนอดีต ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและพลังงาน ร่วมทั้งใช้มูลม้าทำปุ๋ยและยาป้องกันศัตรูพืชแทนสารเคมี

ที่โรงเรียนบ้านนาหมอม้า ต.นาหมอม้า อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ นายนพวัชร สิงห์ศักดา รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับสำนักปฏิบัติธรรมพระศรีอริยะเมตไตรยหลวงปู่ฤษีขุนเดช พระมหาฤษีจอมมุนีโลก คณะศิษย์ยานุศิษย์และชาวบ้านตำบลนาหมอม้า จัดงานประเพณีขี่ม้า เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และเผยแพร่สายพันธุ์ม้าไทย

ภายในงานมีการแสดงของกลุ่มคนรักม้า ซึ่งนำม้าแสนรู้จากทั่วประเทศแสดงให้ผู้มาร่วมงานชม อาทิ ม้าเต้นรำในจังหวะต่างๆ การควบคุมม้าพยศ การให้ม้ายืน 4 ขาบนท่อนซุง การทำความเคารพของม้าต่อผู้ชม การแข่งขันขี่ม้าอ้อมถัง การขี่ม้าซิกแซก การขี่ม้าด้วยความเร็ว

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ นายอิทธิพล ทิพย์รัตน์ หนึ่งในศิษย์ยานุศิกษ์ของหลวงปู่ฤษีขุนเดชกล่าวว่า เป็นความตั้งใจของหลวงปู่ที่จะอนุรักษ์และเผยแพร่พันธุ์ม้าไทย ที่สังคมเริ่มลืมเลือนให้กลับมาได้รับความนิยมจากประชาชนอีกครั้ง เพราะอดีตบ้านนาหมอม้ามีประวัติศาสตร์ความผูกพันระหว่างคนกับม้า

เมื่อกว่า 1,400 ปีที่ผ่านมา ชนชาติขอมอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่ และมีการนำม้าที่ใช้เป็นพาหนะเดินทาง รวมทั้งใช้เป็นม้าทำศึกสู้รบกับข้าศึกมาตั้งรกรากอยู่ด้วย ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในใบเสมาที่ค้นพบภายในวัดดงเฒ่าเก่าของตำบลนาหมอม้า

กระทั่งเมื่อกว่า 400 ปีก่อน เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน จึงได้เชิญผู้มีความรู้ด้านการรักษาโรคมาช่วยเหลือชาวบ้าน โดยหมอที่เดินทางมาช่วยมีความสามารถรักษาโรคทั้งของคนและม้า พร้อมได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับชาวบ้านใช้รักษาม้าต่อไป จนได้รับการเรียกขานเป็นหมู่บ้านนาหมอม้า คือ มีหมอที่มีความรู้รักษาม้าได้

ต่อมาเมื่อมีความเจริญเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทำให้วิถีการเลี้ยงม้าของหมู่บ้านเริ่มถูกลืมไปตามกระแสของวัฒนธรรมใหม่ จนหลวงปู่ฤษีขุนเดชมาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นในหมู่บ้าน และชักชวนให้คณะศิกษ์ยานุศิกษ์ ช่วยกันฟื้นฟูวิถีชีวิตในอดีตของชาวบ้าน โดยสนับสนุนการเลี้ยงม้าพันธุ์ไทย เพราะการเลี้ยงม้าให้ประโยชน์กับผู้เลี้ยงหลายด้าน ทั้งการใช้แรงงานแทนเครื่องจักรกล ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่มีราคาแพง

ทั้งมูลของม้ายังสามารถนำไปใช้ทำปุ๋ยชีวภาพ แทนการใช้ปุ๋ยเคมี และเมื่อนำไปหมัก ก็สามารถใช้ป้องกันแมลง และหอยเชอรรี่ที่เป็นศัตรูของต้นข้าวได้เป็นอย่างดี และหากมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง จะทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย

ส่วนที่ศูนย์เลี้ยงม้าของสำนักปฏิบัติธรรมขณะนี้ มีม้าอยู่ในความดูแลทั้งสิ้น 36 ตัว โดยก่อนหน้านี้ ได้แจกม้าให้ชาวบ้านไปเลี้ยงแล้วราว 70 ตัว สำหรับการจัดงานประเพณีส่งเสริมการเลี้ยงม้า จะจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เป็นประเพณีของจังหวัดอำนาจเจริญต่อไปด้วย

กิจกรรมแสดงความสามารถของม้า



กำลังโหลดความคิดเห็น